Clifton Strengths Finder — แบบทดสอบหาจุดแข็ง ที่ทำให้เราเป็นคนสายสีม่วง
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า Strengths Finder คืออะไร มันคือแบบทดสอบอีกหนึ่งตำราที่ใช้เพื่อหาจุดแข็งของตัวเรา จะมีแบบทดสอบให้ทำหลายร้อยข้อในเว็บไซต์ในเวลาอันจำกัด เพื่อไม่ให้เราคิดเยอะ ให้ตอบแบบที่เป็นตัวตนเราจริงๆ และคำถามนั้นก็จะมีความวนๆ เพื่อให้เราตอกย้ำตัวเองเข้าไปอีก ใจความสำคัญของตำรานี้ก็คือ
- คนเราล้วนแตกต่างกัน เพราะปัจจัยต่างๆ พันธุกรรม ชาติกำเนิด การเติบโต การเลี้ยงดู สภาพอากาศ อาหาร ช่วงอายุ ฯลฯ
- จุดแข็งของเราจะถูกแบ่งเป็น 34 ข้อ ใน 4 แถบสี เราทุกคนจะมีจุดแข็งตั้งแต่อันดับ 1 ไปจนถึง 34
- จุดแข็งที่ดีที่สุดของเราจะอยู่ใน 5 อันดับแรก
- อีก 10 ปี ถ้ามาทำแบบทดสอบใหม่ บางลำดับอาจเลื่อนขึ้นเลื่อนลงได้บ้าง แต่ไม่มาก สำหรับคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไปแล้ว คนเราแทบจะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมจากหัวเป็นหางได้เลย คนที่เป็นคน Positive มาตลอดชีวิต ปีหน้าจะกลายเป็นคน Negative ก็ย่อมเป็นไปได้ยาก
- การเข้าใจจุดแข็งของตัวเอง ฝึกฝนพัฒนา นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในทุกๆ ด้าน จะทำให้จุดแข็งนั้นยิ่งแข็งแรงขึ้นไปอีก
- ไม่ต้องคิดอยากเป็นเหมือนคนอื่น คนแต่ละคนจะมีศักยภาพในการประสบความสำเร็จได้มากกว่าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว กุญแจสำคัญของการพัฒนามนุษย์ก็คือการต่อยอดจากสิ่งที่เราเป็นอยู่
- แต่ก็ไม่ใช้จุดแข็งของตัวเองเป็นข้ออ้าง ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวเอง ไม่มีสิ่งใดที่เราทำไม่ได้ ถึงแม้เราจะไม่ใช่คนที่เกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้น แต่เราก็สามารถปรับเปลี่ยน ใช้จุดแข็งที่เรามีทดแทนเพื่อไปทำสิ่งนั้นได้
- แล้วก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ระวังจุดอ่อนเราเลย การระวังจุดอ่อนจะช่วยป้องกันความล้มเหลว
เข้าใจจุดแข็งและรักตัวเองให้มากขึ้น
พรสวรรค์ x การฝึกฝน = จุดแข็ง
* พรสวรรค์ = วิธีการคิด ความรู้สึก หรือสิ่งที่เราปฎิบัติเป็นธรรมชาติ
* การฝึกฝนหรือพรแสวง = เวลาที่ใช้ไปในการฝึกฝน พัฒนาทักษะและเสริมสร้างความรู้
* จุดแข็ง = ความสามารถในการปฏิบัติงานได้เกือบสมบูรณ์แบบอย่างสม่ำเสมอ
การเรียนรู้ หรือทำงาน โดยอ้างอิงกับจุดแข็งอันดับต้นๆ จะเข้ากับบุคลิกภาพ และความสามารถของเราได้เป็นอย่างดี เราอาจจะเรียนรู้ หรือทำงาน 1 แต่ได้ผลลัพธ์มากถึง 10 แต่ถ้าเรามัวแต่เรียนรู้ หรือทำงาน โดยใช้ความสามารถตามจุดแข็งอันดับท้าย ๆ มาก เราอาจจะลงแรง 1 แต่ได้ผลลัพธ์แค่ 0.5 เท่านั้น แน่นอนว่าการกระทำแบบนั้นจะลดความเชื่อมั่นในตัวเอง ลดความเคารพในตัวเอง ลดการเห็นคุณค่าของตัวเองลง
งานวิจัยพบว่า การที่เราไม่ได้อยู่ในสังคมหรืออยู่ในองค์กรที่ไม่ได้เป็น “โซนจุดแข็ง” เรามีแนวโน้มที่จะผูกพันในงานน้อยลงถึงหกเท่า ส่งผลให้รู้สึกกังวลในการทำงาน มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก บรรลุเป้าหมายในการทำงานน้อยลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เรามีความสุขในการทำงานน้อยลง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรพาตัวเองไปอยู่ใน “โซนจุดแข็ง” เพราะการได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองทำแบบนั้น ทำให้เรามีความมั่นใจวิถีทาง ชีวิตมีความหวังและมีแนวโน้มที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่นได้มากขึ้น
เราต่างแตกต่างกันออกไปกันในคนละเฉดสี เราสามารถอ่านหนังสือได้ทั้งวัน แต่เพื่อนเรากลับไม่ชอบอ่านหนังสือ ชอบเข้าสังคม พบปะผู้คนมากกว่า ก็เพราะเราเป็นนักเรียนรู้ ไม่ใช่นักเข้าสังคม ทั้ง 2 อย่างไม่มีอะไรดีกว่ากัน เราเพียงแค่แตกต่างกันเท่านั้น
การอ่านตารางผลการทดสอบตอนแรกก็คือเศร้าใจมาก ว่าทำไมถึงเป็นคนไม่มี Idea (Creative) ไม่มี Strategy ความสัมพันธ์กับคนเยอะๆ ก็ยังต่ำ ไม่ชอบแก้ไข แถมยังไม่ถนัดสื่อสารอีก (ไล่จาก 34 ขึ้นมา —เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวแหละ แต่น้อยมากกก)
แต่พอได้ไปฟังการอธิบายเพิ่มเติมจากคอร์สที่ลงเรียนกับพี่ป้อม พี่บิม (TBW#9) เมื่อวันเสาร์ที่ 26 Sep ที่ผ่านมา ก็ทำให้ยอมรับตัวเองได้ว่า
เราไม่จำเป็นต้องมีสิ่งนี้ เพราะค่านิยม/ความเชื่อในโลกบางอย่างบอกให้เราต้องเป็นแบบนั้น
Top 10 ของเรา ได้แก่
- ผู้มีความรับผิดชอบ (Responsibility) มีสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขารับปากว่าจะทำ คนเหล่านี้จะยึดมั่นในค่านิยมที่หนักแน่น เช่น ความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดี
- ผู้บรรลุเป้าหมาย (Achiever) จะทำงานหนักและมีพลังอดทนสูง คนเหล่านี้มีความสุขกับการได้ทำสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา และสร้างสรรค์ผลงานอยู่เสมอ
- ผู้มีวินัย (Discipline) ชอบสิ่งที่มีแบบแผนและเป็นกิจวัตร ความเป็นระบบระเบียบที่คนเหล่านี้กำหนดขึ้นมาบ่งบอกถึงโลกของพวกเขาได้ดีที่สุด
- ผู้สร้างความกลมเกลียว (Harmony) จะมองหามติอันเป็นเอกฉันท์ คนเหล่านี้ไม่ชอบความขัดแย้ง และจะพยายามมองหาความคิดเห็นซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกคน
- ผู้ใฝ่รู้ (Learner) มีความปรารถนาที่แรงกล้าในการเรียนรู้และต้องการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา กระบวนการเรียนรู้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากกว่าผลลัพธ์สำหรับคนเหล่านี้
- ผู้มีเป้าหมายชัดเจน (Focus) จะสามารถกําหนดแนวทางและดําเนินการติดตามจนบรรลุเป้าหมาย และคอยแก้ไขประคับประคองมิให้ออกนอกลู่นอกทาง พวกเขาจะจัดลําดับความสําคัญของสิ่งที่ต้องทํา แล้วจึงลงมือ
- ผู้สรรหาความเป็นเลิศ (Maximizer) จะเน้นไปที่จุดแข็งเพื่อผลักดันให้กลุ่มหรือคนๆ หนึ่ง บรรลุถึงความเป็นเลิศ และพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้กลายเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอด
- ผู้เข้าใจความแตกต่าง (Individualization) จะสนอกสนใจคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวต่างๆ ของแต่ละบุคคล และมีพรสวรรค์ในการคิดหาวิธีการนําผู้คนที่แตกต่างกันมาทํางานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- นักสะสม (Input) จะกระหายใคร่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา พวกเขามักจะสะสมและจัดเก็บบันทึก ข้อมูลทุกชนิด (พี่ป้อมบอกว่า Learner กับ Input มักอยู่ใกล้กัน)
- ผู้มีความเชื่อมั่น (Self-Assurance) จะรู้สึกมั่นใจในความสามารถที่จะควบคุมชีวิตของตนเอง คนเหล่านี้มีเข็มทิศชี้ทางในตัวที่ทําให้มั่นใจว่าการตัดสินใจของตนเองนั้นถูกต้องแล้ว
ตอนที่เห็นสีม่วงเข้มขนาดนี้ คือดูเป็นคนเครียดๆ ยังไงก็ไม่รู้เนอะ 55+ ขณะที่อ่านหนังสือ คำอธิบายของผู้มีความรับผิดชอบ ในย่อหน้าหนึ่งจะบอกว่า “หาเพื่อนร่วมงานที่มีพรสวรรค์ ผู้มีวินัย หรือผู้มีเป้าหมายชัดเจน เขาจะช่วยทำให้คุณทำตามแผนที่กำหนดไว้ และป้องกันไม่ให้คุณรับงานจนเกินตัว” หรือ คำอธิบายของนักสะสม “ร่วมมือกับคนที่มีพรสวรรค์ในการเป็นผู้มีเป้าหมายชัดเจน หรือผู้มีวินัย คนผู้นี้จะช่วยคุณให้กลับสู่ประเด็นหลักได้ ในเวลาที่ความอยากรู้อยากเห็นของคุณนำคุณออกนอกลู่นอกทางไป” ประเด็นคือ มีทั้งสามอย่างนี้อยู่ในตัว ฉันต้องทำยังไง? ก็คือทำทุกอย่างคนเดียวไปเลยงี้ 55+
สิ่งที่ควรระวังสำหรับเราก็คือ
- ผู้มีความรับผิดชอบ (Responsibility) = ตอบปฏิเสธให้เป็น เลือกเรื่องที่ต้องทำจริงๆ การรับมาทำทุกอย่างอาจทำให้ตายได้
- ผู้บรรลุเป้าหมาย (Achiever) = ทำเยอะได้ แต่อย่าละเลยคุณภาพงาน
- ผู้มีวินัย (Discipline) = ให้ความสนใจกับผลลัพธ์ ไม่ใช่กระบวนการของคนอื่น
- ผู้สร้างความกลมเกลียว (Harmony) = การพยายามสร้างความกลมเกลียวอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งแทน
- ผู้ใฝ่รู้ (Learner) = ต้องอยู่ในที่ๆ ได้เรียนรู้ มีการวัดผลการเรียนรู้ของตัวเอง ท้าทายความไม่รู้อยู่เสมอ
- ผู้มีเป้าหมายชัดเจน (Focus) = บางครั้งการเดินอ้อมของคนอื่น อาจทำให้เจอสิ่งใหม่ที่ดีกว่า อาจจะต้องใส่ใจความรู้สึกผู้อื่นมากขึ้นอีกนิด (แฮ่)
- ผู้สรรหาความเป็นเลิศ (Maximizer) = ชอบหาสิ่งที่ดีที่สุดเสมอโดยไม่ชอบซ่อมความพัง อาจจะไม่มีจุดสิ้นสุดความดีพอ (พรสวรรค์นี้เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นมีเยอะที่สุด)
- ผู้เข้าใจความแตกต่าง (Individualization) = ช่วยให้คนอื่นเข้าใจว่าความต่างเป็นเรื่องปกติ อย่าเข้าใจอยู่คนเดียว
- นักสะสม (Input) = ต้องนำข้อมูล (ที่เก็บมามากมาย) มาใช้ประโยชน์ เปลี่ยนความรู้ ลงมือปฏิบัติ
- ผู้มีความเชื่อมั่น (Self-Assurance) = ท่าทีที่อิสระอาจทำให้ถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยวได้ อย่ากล่าวอ้างเกินตัว จากสถิติพรสวรรค์นี้เป็นสิ่งที่หายากที่สุดในโลกจากคนที่เข้ามาทำแบบทดสอบ ~22 ล้านคน ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่พังแล้วจะเยียวยาตัวเองได้เหมือนเรา จงระวังการแสดงออกเมื่อมีคนมาขอความช่วยเหลือ
พอเอากลับมาเล่าให้แม่ฟัง แม่ก็บอกว่า เราเป็นคนใจร้อน ก็ไม่แปลกถ้าจะไม่มีสายเขียว (ที่ต้องการเวลาเพื่อใช้สมองคิดตรึกตรอง) พอใจร้อน ก็ต้องลงมือทำเลย แล้วบางทีก็ทำให้เราเกิดอุบัติเหตุง่ายกว่าคนอื่นนั่นเอง 55+
การไปลงเรียนคอร์สกับพี่ป้อมเพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือ ทำให้เราได้ฟัง Case Study สนุกๆ รวมถึงได้ฟังพี่ๆ เพื่อนๆ คนอื่นๆ ในคอร์สเล่าถึงการจัดการสิ่งหนึ่งด้วยพรสวรรค์ที่ต่างกับเรา เช่น การจัดทริปญี่ปุ่นให้ครอบครัว เราเป็นสายสีม่วงที่ชัดเจนมาก รับปากแล้วต้องทำให้ได้ ขณะทำก็คือ หาข้อมูลอย่างบ้าคลั่ง มี Checklist มี Timetable ทุกอย่างละเอียดยิบ ตั้งแต่เวลา ทำอะไร ที่ไหน ไปยังไง ตั๋วอยู่ใน Drive ที่มี URL อะไร ในขณะที่พี่วีวี่พาคุณแม่ไปเที่ยวสวิสฯ เหมือนกัน แต่ใช้พรสวรรค์สายสีอื่นมาทำให้ทริปนี้ลุล่วง
เราทุกคนสามารถทำได้ทุกอย่างจริงๆ แค่เลือกใช้อาวุธ (พรสวรรค์) ในการไปถึงปลายทางต่างกันเท่านั้น
สุดท้ายนี้ ก็จะเชื่อมั่นในความเป็นคน “ลงมือทำ” ตามแผนของตัวเอง ถ้าอยากทำอะไรจริงๆ จะเขียนมันออกมา แล้วทำตามอย่างมีวินัย จะไม่นั่งคิดเอาเอง เพราะคิดทีไร ไม่เคยได้ทำซะที 55+
ใครที่อยากทำบ้าง สามารถเริ่มจากการซื้อหนังสือ เพื่อเอา Code ท้ายเล่มมา แล้วจะได้ผล Top 5 หรือจะทำในออนไลน์ เพื่อให้ได้ผลแบบเต็มๆ 34 ข้อเลยก็ได้