Mardi Himal— Here I come! เนปาล 1st time จะเดินถึงไหม เจ็บตัวหรือเปล่า~
Disclaimer: บันทึกการเดินทาง บทความนี้ยาวมาก เขียนใน Google Docs ด้วย Font Arial, Size 11pt ได้ความยาว 11 หน้า รูปทั้งหมด 48 ไฟล์ และแปะคลิป YouTube อีก 2 ลิงก์
เนื้อหาประกอบด้วย
- จุดเริ่มต้นของทริป
- เรื่องเล่าของแต่ละวัน
- การแต่งกายแต่ละวัน
- สิ่งที่ได้เรียนรู้
- สิ่งที่ควรพกไปนอกเหนือจากเครื่องแต่งกาย
- สิ่งที่พกไปแล้วไม่ได้ใช้ ครั้งหน้าไม่ต้องเอาไปก็ได้
จุดเริ่มต้นของทริป
พี่หนุ่มมาชวนไปทริปนี้ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการส่ง Link ของ Nepal101 มาให้ พอนี่เห็นก็อยากไป เลยชวนวิน แล้วก็ไปชวนต่อในแชทของ EBC Apr 202x ที่เก้าตั้งกลุ่มไว้ ถามว่าใครอยากไปลอง POC หิมาลัยปีนี้ก่อนไหม ซึ่งมีเก้าตอบรับมาว่า “ไปด้วย” อยู่คนเดียว ที่เหลือไม่มีการตอบสนองหรือมีการตอบสนองแต่ก็แจ้งว่ายังไม่พร้อม ก็เลยเป็นที่มาของการเป็นแก๊งเด็ก 3 คนที่จะไปป่วนชาวคณะกลุ่มอื่นในทริป
หลังจากตัดสินใจว่าจะไป ต้องจองด้วยมัดจำรอบแรกก่อน ได้ทำการโอนรอบแรกไปตอนที่ไป Work from เขาค้อ พอโอนเงินมัดจำปุ๊บก็รู้เลยว่าต้องเริ่มจริงจังแล้ว
ทางทัวร์จะมีการส่งอีเมลข้อมูลต่างๆ และมีแอดมินคอยตอบไลน์สำหรับข้อสงสัยอยู่เสมอ เพื่อให้เราเตรียมข้าวของไปให้ครบ ให้แลกเงิน USD ไป ซึ่งทางเรากับวินก็เปิดเข้าไปในซุปเปอร์ริชทั้งเขียวและส้ม แล้วเห็นว่าสามารถแลกเงินเนปาลรูปีได้ เรทดีกว่า ก็เลยคิดว่าจะแลกเงินเนปาลรูปีไปเลย วินก็ส่งคำขอผ่านหน้าเว็บไปแล้วก็โดนปฏิเสธกลับมา ทำอยู่หลายรอบ เหมือนบอทยิง จนพนักงานต้องโทรกลับมาว่าไม่มีเงินเนปาลรูปีให้แลก ถ้าไม่มีก็เอาข้อมูลออกจากหน้าเว็บไปสิ แหม่~
ทางทัวร์มีถุงนอนลบสิบองศาให้ยืมฟรี โดยแจ้งว่าหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัม รวมถึงแจ้งให้เราเตรียมข้อมูลส่งให้เขาไปยื่นวีซ่าให้ด้วย ถ้าเทียบกับราคาในท้องตลาดอาจถือได้ว่าทัวร์นี้ราคาค่อนข้างสูง แต่แลกมากับความสะดวกสบายที่ไม่ต้องทำอะไรเองแล้วอาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้
ความจวนตัว ไฟลนก้นมักจะมาในวินาทีสุดท้าย มาวิ่งและสควอทช่วงเดือนสองเดือนหลังนี่เอง ซึ่งสัปดาห์สุดท้ายก่อนเดินทาง แทบไม่ได้ออกกำลังเลยเนื่องจากงานเข้า
ความน่าประหลาดใจของการเดินป่าคือ ไม่ว่าเราจะมีของครบแค่ไหน พอเวลามีทริปใหม่ ก็จะต้องไปซื้อของเพิ่มอยู่ดี ซึ่งทริปนี้เราซื้อถุงน้ำ แว่นกันแดด ซิลิโคน/เทปกันรองเท้ากัด แผ่นแปะร้อน เสื้อกล้ามแบบมีบราในตัวของ Uniqlo ผ้าเช็ดตัวนาโนของ Sea to Summit แล้วก็พวกของกินต่างๆ ยารักษาโรค รวมถึงเดินทางไปยืมกระเป๋าดัฟเฟิล เสื้อกันฝนและเสื้อกันหนาวจากพี่ขวัญ
เราจัดกระเป๋าล่วงหน้า 1 สัปดาห์ แต่ก็ส่องมันทุกวันกว่าจะถึงวันเดินทางจริง ในคืนวันสุดท้ายก็ยังคงส่องอยู่ จัดไปก็ยกกระเป๋าขึ้นตาชั่งไป เพื่อประมาณการน้ำหนัก ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ถอดใจว่า ถ้ามันจะเกินน้ำหนักที่ลูกหาบแบกได้จริงๆ ค่อยไปทิ้งไว้ที่โรงแรม Kathmandu ก็แล้วกัน
ตัดภาพมาที่วันเดินทางเลยดีกว่า ทริปนี้เป็นการเดินทางระหว่างวันที่ 8–15 ตุลาคม 2565
Day 1 | KATHMANDU (1400 m)
ตื่นแต่เช้าตรู่ประมาณ 5:30am ออกเดินทางจากบ้านเวลา 6:30am ไปยังสนามบิน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40–45 นาทีก็เดินทางมาถึงสุวรรณภูมิ ขอบคุณพ่อวินที่มาส่ง ณ ที่นี้ เมื่อไปถึงก็พบว่ามีคนจำนวนมากกำลังต่อแถวเพื่อทำการเช็คอิน ขอบคุณทางทัวร์ที่เช็คอินออนไลน์มาให้ มีที่นั่งเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่ต่อแถวยื่น Passport แล้วก็โหลดกระเป๋าได้เลย ซึ่งพบว่าทริปนี้ใน Booking เดียวกัน มีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด 7 คน เป็นพวกเราไปแล้ว 3 พี่หนุ่มและแฟนอีก 2 แสดงว่าเราจะเจอตัวละครใหม่อีก 2 คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
พอเช็คอินกระเป๋าเรียบร้อย ก็พากันไปกินข้าวเช้าที่ Food Court ของสนามบิน จากนั้นก็เดินผ่าน Security Check แล้วก็คุณ ตม. ซึ่งเครื่องอัตโนมัติพัง! เขียนว่าอยู่ระหว่างปรับปรุงซอฟต์แวร์อะไรสักอย่าง พี่ยุ้ยธนาที่เพิ่งเดินทางไปออสฯ มาไม่นานมานี้ก็บอกว่าตอนนั้นก็พัง ผมเลยรับบทคนขี้สงสัยว่าอัปเดตซอฟแวร์ยังไงให้นานขนาดนี้ ใช้เวลายืนต่อแถวเพื่อผ่าน ตม. ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เดินเข้ามาด้านในจนได้ เดินแวะดูสินค้าที่น่าสนใจไปเรื่อยๆ แต่ไม่ซื้อ (อ้าว) ก็ได้พบพี่หนุ่มพี่เก่ง (แฟนพี่หนุ่ม) จากนั้นเราสามคนก็พยายามสอดส่องหาว่าพี่อีก 2 คนที่เหลือจะเป็นใครจากรูปภาพ Profile ในกลุ่ม Line ที่ทางทัวร์เปิดขึ้นมาตอนเช้าเอาไว้สื่อสารเรื่องราวต่างๆ จนแล้วจนรอดก็เดาไม่ถูก เดาตั้งแต่เดินเท้าจนกระทั่งนั่งรอหน้าเกต ไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ร่วมชะตากรรมกับเรา แต่เราก็มี Hint ตรงเลขที่นั่งที่ทางทัวร์ส่งมาให้ พออยู่บนเครื่องปุ๊บ ก็ชี้ตัวถูกปั๊บ กำหนดการในตั๋วเครื่องบินแจ้งว่าบอร์ดดิ้ง 9:50am แต่เครื่องเพิ่งจะมาถึงตอน 9:55am กว่าจะได้ออกตัวจริงๆ ก็หลังจากนั้นเกือบชั่วโมง
การเดินทางใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 25 นาที บนเครื่องไทยสมายล์นี้ มีอาหารมื้อหลักให้ด้วย เราเลือกกินเป็นข้าวมันไก่ ซึ่งอร่อย ส่วนเก้าและวินเลือกกินอาหารอินเดีย จากนั้นก็มีเสิร์ฟชาหรือกาแฟร้อน พร้อมด้วยถุงถั่วลิสงอบให้มากินเป็นของว่าง
หลังจากที่กิน นอนบนเครื่องเรียบร้อย เราก็เดินทางมาถึงสนามบินตรีภูวัน สนามบินเล็กมากถ้าเทียบกับสุวรรณภูมิ เป็น Bus Gate ที่พอลงจากบัสก็ต้องต่อแถวผ่านด่านการตรวจหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด จากนั้นก็ต่อแถวผ่าน ตม. แล้วก็ไปผ่าน Security Check ก่อนจะเข้าไปรับกระเป๋า ระหว่างรอรับกระเป๋าก็เลยไปเข้าห้องน้ำสนามบิน ที่นี่มีทั้งแบบนั่งยองและชักโครก มีที่ฉีดก้น ทิชชูหนากว่าบ้านเรา กลิ่นแอบแรงเหมือนกัน ดีที่พกสเปรย์ดับกลิ่นฆ่าเชื้อมาด้วย (กระเป๋าหนักเพราะของอะไรแบบนี้แหละ!)
ใช้เวลารอรับกระเป๋าไม่นาน ก็เคลื่อนพลไปหาทีมไกด์เนปาลที่รอรับเราอยู่ด้านหน้าของอาคารผู้โดยสาร เดินฝ่าแดดอันแผดเผาเพื่อไปขึ้นรถตู้ แต่ก่อนขึ้นรถตู้ เราก็ได้รับมอบผ้ายันต์สีเหลืองคล้องคอกันคนละ 1 ผืน รถตู้ที่นี่มีแอร์ที่ร้อนมาก เปิดหน้าต่างเหมือนจะสบายกว่า
ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็เดินทางมาถึงโรงแรม Hotel Buddy ที่อยู่ที่เมือง Kathmandu มาถึงปุ๊บก็โดนพาเข้าห้องประชุม เข้าฟังบรีฟเบื้องต้นของทริป พร้อมกับเซ็นเอกสารรับรองความเสี่ยงด้วยตัวเอง ได้ชิมชามาซาล่าสุดเข้มข้น และแลกเงินกับทางไกด์เนปาลที่เตรียมเงินรูปีให้เราแลกจากเงินดอลลาร์ที่เตรียมมา
พอขึ้นห้องเก็บของอะไรเรียบร้อยก็ได้เวลาออกไปเดินชมเมืองและ Shopping ซื้อของกันอย่างครึกครื้น รอบนี้เราเสียเงินให้กับไม้เทรคสองข้าง กางเกงเดินป่า ถุงมืออันอบอุ่นเอาไปใส่ทับอีกชั้น
พอเต็มไม้เต็มมือก็เอาของมาเก็บที่ห้องอีกครั้ง แล้วออกเดินเท้าด้วยระยะไกลมากเพื่อไปร้านอาหารเย็นพื้นเมืองที่มีการแสดงระบำเนปาลีให้ดู อาหารเย็นวันนี้เริ่มจากการเสิร์ฟซุปถั่วใสๆ ต่อด้วย ออเดิร์ฟที่มีมันฝรั่งอบจนไหม้เล็กน้อย เกี๊ยวนึ่ง (โมโม่) ถั่วแข็งกรุบๆ ก้อนไก่กับซอสจิ้ม และปิดท้ายด้วย Dal Bhat คนละ 1 ถาด ที่สามารถเติมได้ไม่อั้น คำถามคือ จะไปเติมอะไรก๊อนนน แค่ข้าวยังกินได้แค่ครึ่งเดียวเลย (เยอะมากแม่) โยเกิร์ตที่อร่อย แต่ว่าอดใจไว้ กินไปแค่ 2 คำ ซึ่งดีมากที่ทำแบบนั้น เนื่องจากส่งผลต่อมายังวันรุ่งขึ้นที่ท้องเสีย 2 รอบกันเลยทีเดียวจ้ะ
หลังจากที่กินข้าวเรียบร้อย เราก็เดินทางระยะไกลอีกครั้งเพื่อกลับโรงแรม แต่ก็แวะไปที่ร้านเดิมแล้วได้กระเป๋าดัฟเฟิลสีเทามาอีกหนึ่ง แล้วก็มาถึงโรงแรมจริงๆ ได้รับถุงนอนที่ยืมทางทัวร์ (หนัก 1.6 กิโลกรัม ทำไมมันเพิ่มขึ้น!) จัดของพร้อมกับการกำจัดจุดอ่อนออกทีละอย่างสองอย่าง แล้วก็ยืมตาชั่งของเก้ามายก แล้วก็เอาออก ยกแล้วก็เอาออก ทำแบบนี้ติดลูปเป็นสิบๆ ครั้งจนกว่าจะได้น้ำหนักที่น้อยกว่า 10 กิโลกรัม (เนื่องจากลูกหาบแบกของให้พวกเราได้แค่คนละ 10 กิโลกรัม) ของหลายอย่างจะถูกทิ้งไว้ที่โรงแรมแห่งนี้ เพราะเจ้าคือจุดอ่อน! จุดนี้อะไรซกมกได้ก็ต้องทำ เมื่อจัดของเรียบร้อยจนเป็นที่พอใจ ก็ทยอยกันอาบน้ำแล้วก็เข้านอน ความตลกคือมันมีไฟ 2 ดวงที่เปิดไว้แล้วปิดไม่ได้ ตอนเช้าตื่นมาทั้งสามคนคือตาโหลกันมาก (ซึ่งจริงๆ มันปิดได้ แต่มารู้เอาคืนวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับแล้ว 55+)
Day 2 | PITAM DEURALI (2100 m)
ตื่นแต่เช้ามืดอีกแล้ว ถามว่านอนพอไหม ตอบเลยว่าไม่! เมื่อวานจัดกระเป๋าให้ลูกหาบไปไม่เกิน 10 กิโลกรัม ลองมาชั่งตาชั่งที่ด้านล่างล็อบบี้ของโรงแรม ก็คือได้ 9.7 กิโลกรัม ส่วนเป้ตัวเองลองเอาไปชั่งดูได้ 7.94 กิโลกรัม หนักที่สุดเท่าที่เคยแบกมาเลยจ้า แล้วพวกเราก็ได้รับอาหารเช้าเป็นกล่อง (2 คนต่อ 1 กล่อง) ในถุงสีเหลือง Laundry แบกกันมา 4 ถุง โดดขึ้นรถตู้แล้วซิ่งไปเช็คอินที่สนามบินอีกครั้งเพื่อเดินทางด้วยเครื่องบินสายการบิน Buddha Air ไปยังเมืองโพคารา สภาพของ Counter สายการบินในประเทศแอบเหมือนรถทัวร์สายใต้ใหม่บ้านเราอยู่ การขนกระเป๋าก็ใช้รถเหล็กมีล้อที่ใช้คนลากเอา พอเช็คอินโหลดกระเป๋าเรียบร้อย ก็ผ่าน Security Scan ซึ่งที่นี่แยกหญิงชายคนละช่องกัน นี่ก็ซดน้ำดื่มด้วยความเคยชิน เพื่อพบว่าสามารถเอาน้ำผ่านเครื่องได้ (เอ่อม) พอเข้ามาเรียบร้อยก็หาที่นั่งเพื่อเติมพลังด้วยกล่องอาหารเช้า เปิดออกมาจะมีแซนวิชแยม ไข่ต้มคนละสองฟอง กล้วยหอม แอปเปิ้ล ขนมปังเม็ดช็อคโกแลต มัฟฟินอะไรซักอย่างแล้วก็น้ำผลไม้ ซึ่งทางเรากินไปแค่ขนมปังเม็ดช็อกโกแลตกับกล้วย 1 ลูก ความพีคเริ่มต้นตั้งแต่ตรงนี้คือเครื่องบินไม่สามารถออกเดินทางได้ ตอนเวลาประมาณ 7:10am บนจอก็ขึ้นว่า สนามบินโพคาราปิดเนื่องจากสภาพอากาศ
สิ่งที่ได้เห็นวันนี้คือการทำ MVP ของ Product หนึ่ง การแสดงข้อมูล Flight Status ด้วยการทำ PowerPoint ดูเป็นตัวเลือกที่ดีและใช้งานได้เหมือนกันนะ ชอบมากจนต้องถ่ายเก็บไว้
หลังจากนอนกลิ้งเกลือกอยู่บนเก้าอี้ เกือบ 1 ชั่วโมง ก็ได้เวลาออกเดินทาง พอเดินออกมาจากอาคารผู้โดยสาร ก็ต้องขึ้นรถบัสร้อนที่วนแล้ววนอีกกว่าจะไปถึงเครื่องบินที่ถูกต้อง ยังแซวกันอยู่เลยว่าเขาให้มานั่งรถเล่นหรือเปล่า หรือส่งเราขึ้นถูกเครื่องหรือเปล่า 55+
เครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องบินแบบใบพัด ไม่ได้เป็นเครื่องบินที่เล็กมาก ให้ความรู้สึกเหมือนตอนบินไปน่าน ใช้เวลาประมาณ 25 นาที ก็เดินทางมาถึงสนามบินโพคารา สรุปว่าใช้เวลารอเครื่องบินออกตัวนานกว่าเวลาที่เครื่องบินใช้บนฟ้า
และเช่นเคย พอลงมาจากเครื่องบินแล้วก็ใช้คนลากรถเข็นกระเป๋าออกมาจากเครื่องบินมายังจุดรับกระเป๋า ซึ่งผู้คนหนาแน่นมากๆ พอได้รับกระเป๋าเสร็จก็ช่วยกันแบก ช่วยกันเข็นมาขึ้นรถตู้อีกครั้ง เพื่อเดินทางไปยังจุดปล่อยตัว Kande สภาพวันนี้ท้องเสียไปแล้วสองรอบ น่าจะเป็นผลมาจากอาหารเมื่อเย็น กินเกลือแร่ตั้งแต่วันแรกไปเลยจ้ะ เดินทางด้วยรถตู้เกือบชั่วโมงก็มาถึงจุดปล่อยตัว ลงมาจากรถด้วยความง่วงและงงเพราะว่าหลับมา 55+ ให้เวลาเตรียมตัวเพื่อออกเดินทางประมาณ 15 นาที เติมน้ำดื่ม เข้าห้องน้ำ เอากระเป๋าให้ลูกหาบ จากนั้นก็เริ่มเดินได้เลย
ทางเดินตอนแรกดูเหมือนเป็นทางราบ ผ่านไปไม่นาน ก็พบบันได บันได และบันได เสื้อคลุมที่เคยใส่กัน เริ่มถอดออกทีละชั้นเพราะว่าเหงื่อโชก ระหว่างเดินก็คุยกับไกด์ Shiva ผู้เดินปิดท้ายให้เราไปพลางๆ เค้าก็ Estimate ระยะเวลาเดินทางตาม Pace พวกเรา แล้วก็กะให้ตลอดว่า จะถึงจุดหมายข้างหน้าอีกกี่ชั่วโมง แล้วก็จะ Adjust ตามความสามารถของ Tourist เลยว่าควรจะพักที่ไหน อย่างไร จากนั้นก็เป็นทางขึ้นบันได บันไดและทางชันไปจนถึง Australian Camp ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที
แต่เรายังไม่หยุดแค่นี้ถึงแม้จะเป็นเวลา 12:10pm แล้วก็ตาม เรายังคงเดินต่อเนื่องขึ้นไปอีก ได้เจอกับฝูง Donkey Donkey ขนของ แล้วก็ขึ้นๆๆ เพื่อไปพักกินข้าวกลางวันกันที่ Pothana ตอน 12:47pm ตัดสินใจสั่งกันอย่างรวดเร็ว ระหว่างรออาหารที่สั่งไป ก็เอาไข่ต้มที่ได้มาจากมื้อเช้ามาหยอดน้ำปลากิน จัดว่าดี! แล้วก็สั่ง Ginger Lemon Tea มะนาวดีมาก ไม่มีความขิงเลย แบบนี้กินได้ 55+ นั่งรออาหารนานมาก ด้วยความที่สั่งไม่เหมือนกัน เลยได้อาหารตอน 1:42pm เกือบชั่วโมงไปเลยจ้ะ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า กรุณาสั่งให้เหมือนๆ กันแล้วจะได้เร็วกว่า มื้อนี้เราสั่งเป็นข้าวผัดรวมไม่ใส่ชีส ให้มาเยอะมากกกก กินไม่หมด ดีที่ได้เก้าช่วยกิน
ที่ร้านอาหารตรงนี้เป็นทั้งที่กินข้าวแล้วก็ที่พักไปในตัว (เรียกกันว่า Tea House) ซึ่งปลูกต้นกัญชาด้วย ถามไกด์ว่า กัญชาที่นี่ถูกกฎหมายไหม เขาบอกว่าผิดกฎหมาย แต่ก็เห็นปลูกกันประปรายที่ละต้นสองต้นนะ จะมีใครขึ้นมาจับไหม ก็คงไม่มีหรอก ถ้าต้องเดินขึ้นเขาเหนื่อยขนาดนี้เพื่อมาจับการปลูกต้นไม้ที่ผิดกฎหมายน่ะ
ประมาณบ่ายสองนิดๆ เราก็ออกเดินทางอีกครั้ง มุ่งหน้าไปยังที่พักคืนแรก ระหว่างทางเจอสระน้ำและฝูงควายกำลังเล่นน้ำอยู่ด้วย และเช่นเคย ทุกอย่างล้วนเป็นทางขึ้นๆๆๆๆ
ในที่สุด เราก็มาถึงที่พักคืนแรกที่ Pitam Deurali ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง พอมาถึงปุ๊บก็รีบอาบน้ำอุ่นกันเลย เพราะว่าถ้าพระอาทิตย์เริ่มหายไป อากาศก็จะหนาวขึ้นเรื่อยๆ ที่พักคืนแรกนี้มีห้องน้ำในตัว อาบน้ำอะไรกันเรียบร้อย ก็ออกมานั่งรับบรรยากาศเย็นๆ เก้าและพี่อุ๋ยจัดเบียร์กันวันนี้ เพราะถ้ายิ่งขึ้นที่สูง การกินแอลฯ เข้าไป โอกาสเป็น AMS จะสูงขึ้น
แนะนำตัวละครเพิ่มเติม
พี่อุ๋ย พี่อาร์ท
เพื่อนคู่ซี้ พี่รุ่นใหญ่ อายุ 51 ปี ที่แข็งแรง แข็งแกร่งกว่าคนอายุ 3x ปี เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกกำลังเรียนปริญญาตรีและมีที่เรียนจบแล้ว ผ่านมาหลายมาราธอน พี่อาร์ทผ่าน Langtang มาแล้ว ส่วนพี่อุ๋ยจัดเต็มเนปาลทุกปีจำนวนสี่ปีซ้อน มี ABC, Langtang, EBC, และ Mardi Himal ทำให้รู้ว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ เจ้าพวกเด็กหน้าคอมฯ พ่ายแพ้ไปเลย
พี่หนุ่ม พี่เก่ง
พี่หนุ่มผู้ซึ่งเป็นโค้ชการงานของเราจาก WEDO ผู้ชวนเรามาทริปนี้ และพี่เก่ง แฟนของพี่หนุ่ม ทั้งสองเคยผ่านสนาม ABC มาแล้วเช่นเดียวกับเก้า ส่วนเรากับวินถือเป็นมือใหม่ของเนปาล
Madan (มะดัน)
ไกด์เนปาล รับจากสนามบินวันแรกมาส่งโรงแรม จากโรงแรมส่งสนามบินวันสอง เจอกันในวันที่เจ็ดตอนเย็นที่กลับมาโรงแรมที่ Kathmandu และส่งจากโรงแรมในวันที่แปด
Hom (โฮม)
ไกด์เนปาล รับบท The Leader ที่รับจากสนามบินวันแรกและอยู่กับเราตลอดทริป จนกระทั่งส่งเราที่สนามบินในวันสุดท้าย
Shiva (ชีวา/ศิวา)
ไกด์เนปาล เจอที่ Kande อยู่กับเราตลอดการขึ้นลงเขา แยกจากกันที่หมู่บ้าน Sidhing พร้อมกับแก๊งลูกหาบทั้งสาม
มื้อเย็นวันนี้ลองสั่งซุปกระเทียมมากินตามคำบอกเล่าของไกด์ว่าจะช่วยลดอาการแพ้ความสูง แต่กินไปแค่ครึ่งเดียวก็ยอมแพ้ ไม่ไหวจริงๆ แล้วก็มีพิซซ่า Ananpurna (ของท้องถิ่น) ซึ่งอร่อยดี ผัดมักกะโรนีที่เส้นใหญ่มาก MOMO ไส้ทูน่า ไก่ผัดเผ็ด มันฝรั่งทอด จากนั้นก็แยกย้ายเข้านอนกันอย่างไว เหนื่อยมาก เมื่อคืนนอนกันไม่พอ
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- ห้องกินข้าวของ Tea House ทุกที่ จะอุ่นอยู่เสมอเพราะว่ามีเตาผิง ที่แปลว่าใช้ไม้ฟืน บางที่ถ้าไม้เปียก นอกจากความอุ่นที่ได้แล้ว ก็จะได้ความเหม็นไหม้ตั้งแต่หัวจรดเท้าและความแสบตาเพิ่มไปด้วย
- ถ้าอยากกินน้ำร้อนก็สามารถสั่งได้ ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่ายเช่นเดียวกับน้ำปกติ ต้องขอบคุณปัน (เพื่อนวิน) ที่ซื้อขวดกรองน้ำแบบพกพามาให้ แม้จะต้องใช้พลังแขนและทั้งตัวในการกดอัดลงไป เป็นสิ่งที่ดีมาก น้ำจากก๊อกหรือจากแหล่งน้ำไหน เอามาผ่านสิ่งนี้แล้ว ไม่มีรส ไม่มีกลิ่นเหลือเลย ใช้ร่วมกันได้ทุกคน ประหยัดค่าน้ำดื่มได้มากเลยทีเดียว เพราะว่ายิ่งสูงขึ้น ของก็ยิ่งแพงขึ้นทั้งอาหารและน้ำ ขึ้นกันเป็น 10–50% เลย
- ช่วงสั่งอาหารมื้อเย็นเห็นหน้าตาเมนูเหมือนเดิม คือ ที่นี่เขามีการทำมาตรฐานของเมนูเอาไว้ เมนูจะเหมือนๆ กัน ราคาก็จะขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ตามความสูงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งความสูงน้อยหน่อยเป็นเล่มสีดำ พอสูงเพิ่มขึ้น กลายเป็นเล่มสีขาว แต่เนื้อหาอะไรก็คล้ายๆ กันอยู่ แต่เท่าที่สัมผัสได้คือพอสูงขึ้นแล้วบางเมนูจะหายไป แต่สามารถถามได้ว่ายังมีหรือไม่
Day 3 | LOW CAMP (2970 m)
หลังจากที่เข้านอนกันอย่างไวเมื่อคืน หลับไปแบบสนิทมาก ตอนเช้าประมาณ 6:00am ก็ตื่นออกมาเดินเล่นรอบที่พัก ซึ่งสามารถเห็นวิวภูเขาได้จากตรงนี้เลย อากาศหนาวอยู่เหมือนกัน เมื่อวานเย็นเราได้มีคณะกรรมการไก่และไข่เกิดขึ้นเพื่อสั่งอาหารในมื้อเช้าตอน 7:00am ประกอบไปด้วยเรา วิน เก้า พี่เก่ง พี่อาร์ท สั่งไข่เจียว ไข่ดาว ไก่เผ็ดและข้าวเปล่ามาแบ่งกันเป็นมื้อเช้า (พี่หนุ่มทำ IF เดินป่าค่าทุกคนนนน มีแรงได้ยังไงก่อน)
ของดีสำหรับเราที่ควรพกมา คือน้ำปลาและผงโรยข้าวญี่ปุ่น ไม่ผิดหวังที่แบกมันมา หลังจากเติมพลัง เก็บของเรียบร้อย ใกล้ๆ 8:00am ก็ได้เวลาออกเดินทาง หนทางการเดินวันนี้ เป็นทางขึ้นรัวๆ และรัวๆ เดินขึ้นมาได้แป๊บนึง ฝนก็เริ่มลงเม็ด ก็เลยแวะพักที่ Tea House จุดหนึ่ง เอาเสื้อกันฝนออกมาใส่กัน ซึ่งจุดแรกนี้ ได้พบทากพยายามชอนไชเข้าไปในถุงเท้าเรา ก็เลยเดินไปหา Shiva ให้ช่วยดึงออกให้นับเป็นตัวที่ 1
พักกันอยู่ไม่นานก็ออกเดินทางต่อ เพราะดูท่าทางแล้วฝนน่าจะตกทั้งวัน เส้นทางสูงชันที่โหดร้ายมาก เรียกได้ว่าแทบจะแหงนหน้าคอตั้งบ่าเพื่อเดินขึ้นเนินนี่ ระหว่างทางโดนทากเจาะเข้าถุงมือ ตรงกลางระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลางมือขวา อีก 1 ตัว ได้เลือดแล้วคราวนี้ นับเป็นตัวที่ 2
หลังจากผ่านเนินอันสูงชัน คอตั้งบ่า ขาชิดอก ก็มานั่งแวะพักเหนื่อยกันแป๊บนึง เติมพลังแล้วก็เดินทางต่อ เดินชันไปเรื่อยๆ มีจุดแวะพักตรงไหนก็พัก หายเหนื่อยนิดหน่อย ก็เดินต่อ แล้วก็ขึ้นสูงชันอีก ขึ้นอีก ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไปถึง Forest Camp ซึ่งเป็นที่หมายในการกินข้าวกลางวันวันนี้ พวกเราเดินทางไปถึงตอนเที่ยงตรงพอดี (ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงจาก Pitam Deurali) ถึงได้ไม่นาน ฝนก็เทกระหน่ำลงมาก้อนใหญ่
Tea House ตรงนี้เศร้ามาก ไม่มีไก่ ก็เลยสั่งไข่เจียวมา 3 จานกับข้าวเปล่าอีก 2 แล้วแบ่งกันกับพี่หนุ่ม พี่เก่ง พี่อาร์ท พร้อมด้วยน้ำปลาและน้ำพริกของวินและพี่อุ๋ย รวมถึงเห็ดเจ และปลากรอบจากพี่หนุ่มพี่เก่ง ระหว่างรออาหารก็กินคาลบี้ถุงจิ๋วๆ ที่พี่อุ๋ยพกมาด้วย ฝนไม่มีทีท่าว่าจะหยุด พักเหนื่อยกันประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ก็ออกเดินทางกันต่อ ใส่เสื้อกันฝนเดินออกมา แล้วก็เจอบันได บันได บันได ขึ้นเนิน ขึ้นเนิน บันได บันได บันได มีจุดแวะพักหลบฝนที่ไหนก็พัก พักแล้วก็เดินขึ้นเนิน บันได เนิน บันได เหนื่อยหอบ หยุดเดินเพื่อหายใจเข้าหายใจออกเป็นระยะ
ระหว่างทางเดินในป่าฝนก็เจอทากเกาะนิ้วนางข้างขวาอีก ร้องจ๊ากลั่นป่า แล้วให้ Shiva ช่วยดึงออกให้ ถือเป็นตัวที่ 3 ซึ่งตัวนี้เสียเลือดให้มันไปอีก และอย่าคิดว่ามันจะหยุดแค่นี้ เดินอีกก็เจออีก ที่นี้มันเกาะนิ้วก้อยข้างซ้าย เสียเลือดอีก นับเป็นตัวที่ 4 มันจะอะไรกันนักหนาเนี่ยยยย
มาแวะพักหลบฝนพักเหนื่อย ที่มีน้องหมามานั่งข้างๆ ด้วยตอนประมาณ 3:10pm ตอนนี้โดนทากไปแล้วสี่ตัว เสียเลือดไปสาม แล้วก็ออกเดินทางต่อ
ทางเดินวันนี้เป็นเนินชันขึ้นตลอดเวลา ทำเอาหอบแฮ่กๆ หายใจไม่ทัน ช่วงพักตรงเพิงหนึ่งที่พี่อุ๋ยแจกกล้วยตากแผ่นแบนทำเอง พี่อุ๋ยโดนทากเกาะไปหนึ่งแต่ยังไม่เสียเลือด และจุดเดียวกันนี้ ฉันก็โดนทากตัวที่ห้าพยายามจะดูดเลือดข้อมือซ้ายฉัน โดยการแอบแฝงตัวอยู่ภายใต้สายนาฬิกา พอเห็นปุ๊บก็ร้องจ๊ากลั่นป่าอีกครั้ง คำพูดที่เคยบอกว่า จะถ่ายรูปมันเป็นที่ระลึกถูกลืมไปหมด ใครก็ได้ช่วยดึงออกที ฮือออ ตัวที่ 5 นี้ ยังไม่เสียเลือดแต่อย่างใดแต่สยองมากเหมือนเดิม ความคันยึกหยึยที่ทำเอาหลอนตลอดทาง เดินไปก็ดูมือ ดูแขน ดูขาไปเรื่อยๆ ความคันที่เกิดขึ้นภายในตัวที่อาจจะเกิดจากเรื่องอื่นก็โดนตีโพยตีพายว่าเป็นทากไปซะหมด
และแล้วพวกเราก็เดินทางมาถึงที่พักในคืนนี้ Low Camp ที่ความสูง 2970m ในเวลา 4:15pm สิริรวมเวลาเดินทั้งหมดที่รวมแวะพักข้างทาง โดยไม่รวมพักมื้อกลางวัน ประมาณ 6 ชั่วโมง เป็นวันที่เดินทรหดอดทนที่สุด และเสียเลือดมากที่สุดแล้ว
พอเดินทางมาถึง ก็รีบต่อคิวอาบน้ำเนื่องจากเป็นห้องน้ำรวม มีแก๊สทำความร้อนแต่พอตัวหลุดออกจากน้ำร้อนปุ๊บก็คือสั่นงั่กเป็นเจ้าเข้าเลย ห้องน้ำที่พักนี้มี 2 ห้อง ห้องหนึ่งรวมอยู่กับที่อาบน้ำเป็นแบบชักโครก อีกห้องเป็นแบบนั่งยอง หลังจากที่กลุ่มพวกเราเดินทางมาถึงได้ไม่นาน ก็มีกลุ่มเด็กสาวชาวเนปาลที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย (มีคนบอกว่า น้องๆ เรียนพยาบาล) เดินทางมาพักที่เดียวกัน มีกัน 7 คน ก็คิดแล้วว่าตอนเช้าจะแย่งห้องน้ำกันยังไงดี
เนื่องจากวันนี้ฝนตกตลอดวัน ห้องอาหารที่นี่น่าจะใช้ฟืนจากไม้ที่เปียก ทำเอาควันตลบอบอวลไปทั้งห้อง นั่งแสบตา น้ำตาไหล อบควันไปตั้งแต่หัวจรดเท้า ได้แต่คิดแล้วก็สงสัยว่า ฉันอาบน้ำสระผมทำไมเนี่ยยย
มื้อเย็นวันนี้ไปร่วมกินกับพี่หนุ่ม พี่เก่ง คือไก่ทอดที่รสชาติเหมือนกับไก่ไหว้เจ้าตรุษจีนแห้งและเค็มเกลือ พิซซ่าทูน่า ข้าวเปล่า แล้วก็สั่งซุปมะเขือเทศมากินเอง ชอบมาก รู้สึกดีกว่าซุปกระเทียมอย่างมีนัยยะ อีกสิ่งดีที่พกขึ้นไปแล้วได้ใช้คือ ซอสมะเขือเทศกับซอสพริกซองจากเมืองไทย เอาไปจิ้มได้ทั้งไก่และพิซซ่า เมื่อกินอาหารเย็นเสร็จ สั่งอาหารเช้าเรียบร้อย ก็เข้านอนกันอย่างรวดเร็วอีกเช่นเคย
แต่ถามว่าเข้าไปแล้วได้นอนไหม ตอบเลยว่าไม่ เพราะกลุ่มเด็กสาวชาวเนปาล ไกด์และลูกหาบน่าจะร่วมร้องเพลงกันจนถึงสี่ทุ่ม แต่พอเวลานั้นมาถึงปุ๊บ ก็เงียบกริบเลย ทีนี้ก็จะได้นอนแล้วล่ะ
ที่พักคืนนี้อากาศเย็นกว่าเมื่อคืน เลยเอาถุงนอนที่ยืมมาใช้ เป็นถุงนอนที่ดีและอบอุ่นมาก ประทับใจ ใส่ถุงมือนอน ส่วนหมวกไหมพรมใส่ได้แป๊บเดียวก็ถอดออกเพราะรู้สึกว่าร้อนเกิน ช่วงกลางดึกมีความรู้สึกร้อนเกินไปในบางช่วง คาดว่าถุงนอนคงทำงานดีมากเป็นพิเศษ
ความตลกของการเดินป่าครั้งนี้คือ จัดกระเป๋าทุกวัน ทุกคืน จัดแล้วจัดอีก จัดไปจนถึงวันสุดท้ายที่จะกลับ กทม. นั่นแหละ
Day 4 | HIGH CAMP (3550 m)
เนื่องจากเข้านอนเร็ว ตอนเช้าก็เลยตื่นกันเช้ามาก ประมาณ 5:20am ก็ออกมาเข้าห้องน้ำแล้ว เห็นภูเขาตั้งแต่เช้ามืด ธรรมเนียมของคณะเราคือ 7am — Breakfast, 8am — ออกเดินทาง ทำตามสภาพเมื่อวานเป๊ะเลย เช้านี้สั่ง Light Breakfast มากิน ประกอบไปด้วยขนมปัง 2 แผ่นที่มากับมาการีน (หรือเนย?) แยมในขวดโหล ไข่ดาวแล้วก็ hashed potato ที่ดูไม่เหมือนเท่าไหร่และชาดำ 1 ถ้วย ขนมปังที่นี่เนื้อหยาบและร่วนมาก เป็นเศร้า
เนื่องจากไกด์บอกว่าวันนี้จะใช้เวลาเดินแค่ครึ่งวันเช้า ตอนเที่ยงเราจะไปกินข้าวกันที่ที่พักคืนนี้เลย ก็เลยไม่ต้องโหลดพลังงานกันมากนักในมื้อเช้า แต่ไม่รู้คิดผิดหรือคิดถูก เพราะว่าออกเดินมาได้แป๊บเดียว ก็เจอทางเดินที่ชัน ลื่นขี้โคลน บันได บันได และบันไดอีกเช่นเคย เหนื่อยก็หยุดเดิน แล้วก็ถ่ายรูป เดินมาได้ 1 ชั่วโมงก็มาถึง Badal Danda (3,300m) เป็นจุดชมวิวที่สวย เห็นภูเขาหลายลูกเลยแวะถ่ายรูปกันนานหน่อย แล้วก็เดินทางต่อ ซึ่งก็จะเป็นทางลงบันไดสูง นั่นหมายความว่าขากลับขึ้นมาก็จะต้องขึ้นบันไดสูงมาก พอเดินไปได้หน่อย เป็นทางราบสักพักแล้วก็จะเป็นป่า ที่แปลว่าเดินขึ้นภูเขาในป่าอีกครั้ง แวะเข้าห้องน้ำตรง Badal Danda Middle Camp แล้วก็เดินต่อเนื่องขึ้นบันไดอีก
สภาพตอนนี้คือเหมือนเดินไป ทำสมาธิไป หายใจเข้าขึ้นหนึ่งขั้น หายใจออกก็ขึ้นอีกหนึ่งขั้น พยายามตั้งจิต นับ 10 ขั้น 20 ขั้น แล้วค่อยหยุดพักเพื่อหายใจอย่างต่อเนื่อง 5–10 ลมหายใจ แล้วค่อยออกเดินต่อ ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ฉันตอบเลยว่ามาก แต่ก็ยังคงสู้ต่อไปตาม Pace ของตัวเอง
เราแวะพักจุดที่มีชิงช้าเล่นตอนประมาณ 10:30am เพื่อเติมพลังของว่างและเครื่องดื่มร้อนเข้าร่างกาย จากนั้นก็ออกเดินทางอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปได้ประมาณ 30 นาที ขาขึ้นยังคงโหดร้ายเหมือนเดิม เต็มไปด้วยบันไดไม่รู้กี่พันขั้น อยากจะเอาบันไดทิ้งให้หมด เดินผ่านมาได้ประมาณ 40 นาที ก็มานั่งกินถั่วลิสงกันบนยอดเขาลูกหนึ่ง พักกันประมาณ 10 นาทีพร้อมสั่งอาหารกลางวันฝากคุณลูกหาบไปด้วย (เนื่องจากลูกหาบเดินเร็วกว่าพวกเรามากๆ) แล้วก็ออกเดินทางต่อ ขึ้นบันไดอีกนับร้อยนับพัน ไม่นับมันแล้ว! เนินสูงชันที่ทรมานกล้ามขา ฝนเริ่มลงเม็ดตอนใกล้จะถึง
และแล้วเราก็มาถึงที่พัก High Camp (3550 m) ตอน 12:35pm จนได้ ขนาดตอนเที่ยงห้องนอนก็หนาวมากเหมือนตู้เย็น ก็เลยมาสุมตัวกันอยู่ที่ห้องอาหาร นึกว่าอาหารจะมาคอย ที่ไหนได้ รอไปประมาณ 1 ชั่วโมงตามเคย ทั้งๆ ที่คุณลูกหาบมาสั่งให้ล่วงหน้าแล้วนี่แหละ เนื่องจากติดใจซุปมะเขือเทศก็เลยสั่งกินอีก รสชาติไม่เหมือนที่ Low Camp แต่ก็ไม่ได้แย่ มื้อกลางวันนี้สั่งไข่เจียวมา 2 และไก่ทอดมา 1 พร้อมข้าวเปล่า 2 เป็นคณะกรรมการไก่ไข่กัน 4 คนตามเคย
หลังจากกินข้าวกลางวันเสร็จก็นั่งอยู่ในห้องสักพัก แล้วรู้สึกว่ามันร้อนเกินไปจนหน้าร้อนหัวร้อน ห้องอาหารเป็นห้องกระจก แต่ด้านนอกก็มีแต่หมอกกลบไปหมด ก็เลยไปต่อสู้กับความหนาว นอนในห้องนอนที่เป็นตู้เย็นแทน เอาถุงนอนออกมายัดตัวเข้าไป หลับไปประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วก็กลิ้งต่ออีกประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วค่อยกลับมาที่ห้องอาหารอีกครั้งเพื่อกินข้าวเย็น
ความแปลกประหลาดเริ่มบังเกิด เพราะว่าข้าวเปล่าและไก่ทอด 2 จานที่สั่งมาที่ควรกินได้ กลับกินไม่ได้ กินไก่ไปได้แค่ชิ้นเดียวก็กินไม่ลง เอาผงโรยข้าว น้ำปลาหยดข้าว ก็ยังคงกินไม่ได้ เลยรู้แล้วว่าอาการไม่ปกติ เก้าเลยบอกให้สั่งชาน้ำผึ้งมะนาวมากิน ซึ่งก็ดีที่เชื่อฟังเพื่อน เพราะว่าสามารถกินได้หมดแก้ว ก่อนนอนเลยขอยาไดอะม็อกจากวินมากินครึ่งเม็ด แล้วเข้านอนอย่างไว เพราะพรุ่งนี้จะต้องตื่น 3:45am และออกเดินทางตอน 4:15am
เข้านอนไว ก็ตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกอีก น่าจะเป็นผลข้างเคียงของการกินยานี้ที่ช่วยขับปัสสาวะด้วยแหละ ถ้าจำไม่ผิด น่าจะตื่นกลางดึกมาเข้าห้องน้ำแค่ครั้งเดียว แล้วก็ตื่นก่อนเวลานัดหมายประมาณ 15–30 นาทีเพื่อมาเข้าห้องน้ำ ความพีคคือ ช่วงกลางคืนน้ำจะไม่ไหล แล้วเพิ่งมารู้ทีหลังว่า สามารถไปตักน้ำจากแทงค์รองน้ำข้างหลังได้ ยิ่งสูงยิ่งต้องอดทนอดกลั้นต่อภาพและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์เป็นอย่างมาก สเปรย์ดับกลิ่นที่พกมา ฉีดเกือบหมดขวดแล้วก็ช่วยแทบไม่ได้ ทำใจอย่างเดียวเท่านั้น
Day 5 | MARDI HIMAL BASE CAMP (4500 m)
เช้าตรู่เวลาประมาณ 4:20am ฤกษ์งามยามดีได้เวลาออกเดินเท้าไปยัง View Point หลังจากที่เมื่อวานไกด์แจ้งว่ามี 2 ทางที่ระยะเวลาต่างกันครึ่งชั่วโมง ทางปลอดภัยกับทาง Adventure ก่อนนอนพวกเราก็เลือกทางปลอดภัยแล้ว เพราะว่าเป็นกลางคืนที่ยังไม่มีพระอาทิตย์ ต้องใส่ไฟฉายคาดหัว แต่ทำไมตื่นมาแล้วมันกลายเป็นทาง Adventure ไปได้ ซึ่งไกด์ก็รับรองความปลอดภัยว่า จะมีทั้งไกด์และลูกหาบประกบทุกคนอย่างใกล้ชิด 1–1 พวกเราก็เชื่อฟัง ใครว่าอะไรก็ว่าแบบนั้น ตอนเดิน (เรียกว่าปีนด้วยดีกว่า) ขึ้นทาง Adventure นี่เหนื่อยแทบร้องขอชีวิต เหมือนเป็นเส้นทางแพะภูเขา เป็นทางดินเนินชัน ก้อนหินและพงหญ้าเลาะไปตามแนวเขาเท่านั้น ซึ่งนี่คือเขาลูกแรกที่ต้องข้ามผ่านไป!
แล้วก็อย่างที่ไกด์ให้สัญญา มีลูกหาบและไกด์คอยประกบหน้าหลังนักเดินทางตลอด ช่วยทั้งผลักขึ้น ดึงมือขึ้น กระเป๋าเป้ที่แบกมา ใครที่เริ่มแบกไม่ไหวก็สามารถให้ไกด์และลูกหาบช่วยได้ ตอนแรกก็อวดเก่ง พยายามแบกเอง ไปได้ครึ่งทางของเขาลูกแรก ยอมแพ้ ยกให้ Shiva หมดเลยทั้งกระเป๋าและไม้เทรค 2 อัน จากนั้นก็ใช้สองมือและสองขาในการคลานไต่ขึ้นไป พอมีก้อนหินไหนที่พอนั่งพักได้ ก็นั่งพักหายใจแล้วค่อยขึ้นต่อ เหนื่อยเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน นี่ขอโทษ Shiva ไปด้วยระหว่างทางในความรั้งท้ายของเราตลอดขาขึ้นที่ผ่านมาโดยเฉพาะเช้ามืดวันนี้ที่อาการหนักสุด อ่อนแอสุด แต่คนเราควรรู้สภาพตัวเอง ไม่ไหวอย่าฝืน หรือต้องพูดว่า ต่อให้ฝืน ร่างก็ไม่ไหวอยู่ดี 555+
ผ่านไปได้ประมาณ 45 นาที เราก็ผ่านด่าน Adventure ของภูเขาก้อนแรกมาได้ พอขึ้นมาถึงยอด Shiva ก็บอกว่าต่อจากนี้หลับตาเดินได้แล้ว ซึ่งมันหมายถึงการหลับตาเดินของเขา ไม่ใช่ของเรา! ทางเดินไม่ได้ยากมาก แต่มันก็ยังเป็นเนินและบันไดจำนวนหลายพันขั้นอยู่ดี มีขี้แพะและฝูงแพะให้ข้ามผ่านเป็นระยะ มี Yak นอนอยู่ข้างทาง ฝูงแพะนี่นอนเกะกะขวางทางบันไดด้วย
การเดินบันไดเช้ามืดวันนี้เป็นความรู้สึกที่เหมือนไม่มีวันสิ้นสุด มองแหงนหน้าคอตั้งบ่าขึ้นไปทีไรก็ยังคงเห็นบันไดอยู่ตลอดจนท้อใจ ท้องก็ร้องหิว ระหว่างทางกินกล้วยตากเข้าไป 1 ชิ้น ที่เหลือก็คือน้ำเปล่าและเกลือแร่ อยากจะหยุดยืนดูพระอาทิตย์ขึ้นเท่าที่ไหว ตรงไหนก็ตรงนั้น แต่ Shiva คนเดิมก็บอกว่า พยายามเข้าอีกนิดนึงเราจะได้ถึงจุด View Point และได้เห็นแสงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ตอนนั้นก็คิดในใจว่า ฉันดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ไหนก็ได้ไหม แต่ขาก็ยังก้าวไป
หลังจากที่ฝืนสังขารเดิน 5 ขั้น 10 ขั้น 20 ขั้น หยุดหายใจเข้าออกสิบเฮือก (Shiva ย้ำมากว่า ต้องหายใจเข้าออกด้วยจมูก เพราะบางทีเราก็ลืมตัว หอบแฮ่ก ลิ้นห้อย หายใจทางปากแทน) ในที่สุดก็เดินขึ้นมาถึงจุด View Point (4000m) ในเวลา 6:18am ใช้เวลา 2 ชั่วโมงพอดี เหนื่อยมาก น้ำตาจะไหล ขึ้นมาถึงปุ๊บขอนั่งพักตรงนั้นเลย แล้วค่อยเดินอีกนิดมาตรงจุดที่ทีมอยู่กัน เพื่อมารับ Black Tea
บนจุด View Point นี้ หยุดพักถ่ายภาพกันอย่างครึกครื้น ให้สมกับที่อยากมา ซึ่งต้องขอบคุณ Mother Nature จริงๆ ที่วันนี้ฟ้าเปิด ฟ้าสวย เห็นภูเขาชัดมากๆ ใช้เวลาสักพัก ทีมที่ยังไหว ได้แก่ พี่อุ๋ย พี่อาร์ท วิน ก็รับบทเป็นตัวแทนหมู่บ้านขึ้นไปยังเบสแคมป์ พร้อมกับ Hom และลูกหาบจำนวน 2 คน ส่วน 4 คนที่เหลือตัดสินใจรออยู่ที่ View Point และลงไปรอทีมที่ High Camp เอาจริงๆ เราตัดสินใจตั้งแต่ขาขึ้นมาแล้วว่า Pace ตัวเองน่าจะใช้เวลานานกว่าเวลาที่ไกด์ประเมินไว้ อีกทั้งสภาพร่างไม่น่าจะขึ้นถึงได้ คนเราควรรู้จักตัวเองให้ดีที่สุด เก็บแรงไว้เดินลงดีกว่า
หลังจากที่ส่งตัวแทนหมู่บ้านขึ้นไปแล้ว เรา 4 คนก็เดินไปเดินมา ถ่ายรูปอยู่สักพัก ส่วนตัวเราเองใช้เวลาเดินหาห้องน้ำธรรมชาติอยู่นานมาก ข้างบนไม่มีห้องน้ำและเป็นที่โล่งเตียน ต้นไม้สูงก็ไม่ค่อยมี คิดว่าจะอั้นไว้จนกว่าจะเดินลงมาถึงที่พักแต่ก็อาจจะไม่ไหว สุดท้ายก็ได้ทำเลที่พอเหมาะแอบเข้าไประบายน้ำออกจากร่างกายจนได้
อยู่บนนี้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งก็ตัดสินใจเดินลง เพราะแดดเริ่มแผดเผา แม้อากาศจะเย็นแต่แสบหน้ามาก
ขาลงเราใช้เวลา 1 ชั่วโมง 22 นาที ก็มาถึง High Camp ซึ่งระหว่างทางได้แวะพักถอดเสื้อชั้นนอกสุดออก ถอดถุงมือออกเพราะเหงื่อเริ่มโชก แวะถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอมาเรื่อยๆ ตลอดทาง ขาลงรับบทเป็นผู้นำ จนต้องมีลูกหาบคนหนึ่งวิ่งตามลงมาประกบเพราะกลัวเราเดินหลง ซึ่งจริงๆ เวลาเจอแยก เราก็จะหยุดยืนรอเขานั่นแหละ กลัวไปผิดทาง 55+ ความน่ารักคือเวลาเราหยุดเพื่อถ่ายรูป เค้าจะถามเราอยู่เรื่อยๆ เลยว่าให้เค้าถ่ายรูปให้ไหม แต่เราก็บอกว่าไม่เป็นไร เราอยากถ่ายวิว ไม่ได้อยากถ่ายตัวเองเท่าไหร่
เมื่อลงมาถึง High Camp ก็ได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์อยู่ใกล้ๆ ซึ่งตอนที่เดินลงมาเรื่อยๆ นั้นก็เห็นเฮลิคอปเตอร์หลายลำมากที่บินไปบินมา ต่อให้เหนื่อยแค่ไหนก็ต้องรับบทเป็นผู้สื่อข่าววิ่งไปหาต้นเสียง แล้วก็ได้พบกับ Helicopter Evacuation คนตัวเป็นๆ ซึ่งอันนี้ทางทัวร์เราก็รวมอยู่ในประกันนะแต่ต้องป่วยจริงก่อน ซึ่งการไม่ใช้อาจจะดีกว่า
เฮลิคอปเตอร์ใช้เวลาหมุนใบพัดนานอยู่พอสมควรกว่าจะได้ที่ พอออกตัว ลอยขึ้นแป๊บเดียว หัวก็ปักพุ่งลงหายไปเลย ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที เฮลิคอปเตอร์ก็บินไปไกลห่างจากสายตาแบบสุดหล้าฟ้าเขียว
ข้อดีของการที่มาถึง High Camp ก่อนคือเราสามารถสั่งอาหารช่วงสายกินได้ก่อน หิวมากไม่ไหว หมดแรง เหมือนทำ IF นานเกินขีดจำกัด (ชีวิตปกติไม่เคยทำ IF เลยเจ้าค่ะ) เพราะมื้อเย็นกินอะไรไม่ได้เลย จนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น 10am มื้อสุดท้ายที่ตกถึงท้องคือข้าวกลางวันเมื่อวาน (1:40pm) ประมาณ 20 ชั่วโมงได้ที่ท้องโล่งโจ้ง มีแค่กล้วยตาก 1 ชิ้นเท่านั้น มื้อนี้เราสั่งโมโม่ไก่กับปอเปี๊ยะทอดมากินกับพี่หนุ่มพี่เก่งและเก้า ซึ่งทั้งสองอย่างของ Tea House นี้มีความ Curry เป็นอย่างมาก
ลงมาถึงก่อน ก็แอบเก็บของก่อน นอนกลิ้งก่อน จากนั้น 11:36am ทีมที่ไปพิชิตเบสแคมป์ก็เดินกลับลงมาถึง High Camp เช่นกัน ซึ่งทีมนี้ได้ทำการสั่งอาหารล่วงหน้ามาตั้งแต่อยู่บน View Point แล้ว ทำให้อาหารเที่ยงของเราสามารถกินได้ตอนเที่ยงหน่อยๆ มื้อนี้เราแชร์กับพี่เก่งเป็นข้าวกับไก่ทอด กินได้แล้ว เย้! ไม่ได้ต้องการกินจำนวนมากเพราะว่าเพิ่งกินมื้อสายไปเมื่อ 2 ชั่วโมงที่แล้ว และเป็นขาลงที่ไม่ต้องใช้พลังเยอะ
เมื่อทุกคนเติมพลังและเก็บของแพ็คกระเป๋ากันเรียบร้อยประมาณ 1:30pm ก็เดินลงไปที่ Low Camp จริงๆ แล้วตามกำหนดการที่ทัวร์ส่งมาให้ คืนนี้เราจะต้องไปนอนที่ Badal Danda (จุดที่ชมวิวภูเขาสวยๆ เห็นหลายลูก) แต่ไกด์ได้ทำการประเมินแล้วคิดว่าสามารถลงไปถึงที่พักเดิมของคืนก่อนได้ ก็ลุยกันเลย
ขาลงบ่ายวันนี้ส่วนมากฟ้าปิด เป็นหมอกเยอะ ซึ่งทีมเราก็ใช้เวลาไม่นานจริงๆ ในการเดินลง มาถึง Low Camp 3:19pm รวดเร็วสุดๆ ถ้าจำไม่ผิดมีแวะพักย่อยๆ อยู่ประมาณ 3–4 ครั้งเท่านั้น ซึ่งครั้งที่แวะพักนานที่สุดก็คือก่อนถึง Badal Danda ที่กล่าวไปด้านบนว่า ลงจากจุดนี้เป็นบันไดสูง ขากลับขึ้นมาก็ต้องไต่บันไดสูงเช่นกัน
พอไปถึงที่พักก็ตามธรรมเนียมเช่นเคย ต่อคิวอาบน้ำ แล้วก็ไปซุกตัวกันอยู่ในห้องอาหาร ซึ่งเย็นวันนี้เราได้เห็นแสงพระอาทิตย์สีทองสาดส่องไปยังยอดเขาของ Mardi ด้วย เย็นนี้พอแล้วกับไข่ไก่ทอด ก็เลยสั่ง Mixed Korea Noodle มากิน (ใส่ไข่และผัก) แล้วก็ใส่ผงมาม่าต้มยำที่วินพกมาลงไปด้วย อร่อยเฉย
และเช่นเคยพวกเราก็เข้านอนแต่หัวค่ำ เข้าห้องกันตั้งแต่ 7pm ถามประชากรร่วมห้องว่า จะนอนตอนนี้จริงหรอ แต่พอไม่มีอะไรทำ และด้วยความหมดแรง ทุกคนก็หลับจริงๆ
ตั้งข้อสังเกต การกินของแซ่บอาจส่งผลต่อเนื่องให้เราต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำตั้งแต่เช้ามืด ท้องเสีย 2 รอบ (อีกแล้ว)
Day 6 | POKHARA (1400 m)
ตามธรรมเนียมของเราเช่นเคย 7am กินข้าวเช้า มื้อนี้สั่งแพนเค้กราดน้ำผึ้ง ไม่ดี ไม่ควร แป้งร่วนมากเช่นเดียวกับขนมปัง และแล้ว 8am ก็ได้เวลาออกเดินทางจาก Low Camp (2970 m) ลงไปยังหมู่บ้าน Sidhing (1700 m) ซึ่งก่อนออกตัว ก็ได้มีการถ่ายภาพหมู่รวมกับไกด์และชาวคณะลูกหาบ
ขาลงนี้หมายมั่นปั้นมือเป็นอย่างมากว่าจะต้องไม่โดนทากเกาะ ใช้ความเร็วที่แตกต่างเป็นอย่างมากกับขาขึ้น เดินลงมาเรื่อยๆ แบบไม่หยุด เพราะถ้าหยุดแปลว่าขาสั่น โดยเดินตามน้องลูกหาบคนหนึ่งที่กำลังเรียนหมออยู่ชั้นปีที่หนึ่ง ไม่รู้ชื่อน้อง แต่น้องใส่รองเท้าคูลมาก ยี่ห้อ Supe มีความเด้งดึ๋งดั๋ง เป็นรองเท้าแฟชั่นที่ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเอามาเดินป่าได้ ถามน้องว่าซื้อที่ไหน น้องบอกว่าซื้อที่โพคารา เลยตั้งใจว่าจะต้องไปซื้อตามบ้าง (แต่สุดท้ายก็หาไม่เจอ) ขาลงมองแต่รองเท้าน้องที่อยู่ด้านหน้า ก้อนหิน กิ่งไม้ ผืนดินทุกจุดที่น้องเหยียบ เรียกว่าเดินตามทุก Steps เลยก็ว่าได้ เพราะกลัวลื่นเป็นอย่างมาก แต่บางทีก็ทำตามไม่ได้เพราะขาตัวเองยาวไม่พอ
ระหว่างทางเดินลง เจอฝูงม้าขนของเดินสวนขึ้นไปอยู่สามรอบได้ ความน่ารักของลูกหาบน้องหมอคือตอนที่ม้าเดินสวนขึ้นไป น้องยืนบังเราด้วย เป็นการป้องกันความปลอดภัยให้ในกรณีที่ม้าอาจจะกระแทกโดนตัวเราแล้วเรากลิ้งตกเหวไป หล่อมาก ประทับใจไม่ไหว และได้เจอลูกหาบที่แบกของที่หนักมากขึ้นไปเช่นกัน
เราแวะพักเข้าห้องน้ำหลังจากที่เดินลงมาได้สักพักหนึ่ง จุดนี้มีน้องหมารอต้อนรับอยู่ น้องสนใจซองลูกอมที่มีเสียงก๊อบแก๊บ แต่พอแกะเม็ดลูกอมคูก้าให้ก็ไม่กิน ตอนเดินจากกันยังมาเห่าใส่อีก แค่นี้ก็ต้องงอนกันด้วย ขอโทษที่ไม่ได้พกอย่างอื่นมาให้กินนะ เสบียงหมดแล้ว
เดินลงมาอีกสักพัก ก็เป็นจุดยืนชมวิว วินและพี่อุ๋ยที่เปิดเพลงเดินมาตลอดทาง มาหยุดยืนเต้นกันตรงนี้หนึ่งกรุบ ขาลงแรงเหลือแหละดูออก ซึ่งสภาพบรรยากาศตอนนี้ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในป่าไทยมาก ต้นไม้สูง แดดร้อน อากาศก็ร้อนขึ้น
อยู่กับความร่มรื่นของต้นไม้ได้ไม่นาน ก็ต้องพบกับความโล่งเตียน หินน้อยใหญ่ กรวดทรายตามพื้น แดดที่แผดเผา ตอนนี้ให้ความรู้สึกเหมือนตอนเดินลงจากฟูจิมากๆ
และแล้วเราก็มาถึงจุดที่รถจี๊ปควรจะขึ้นมารับเราได้ เราพักเหนื่อยกันตรงนี้แป๊บนึง เข้าห้องน้ำ เติมพลังเล็กน้อย และได้รับข่าวว่า รถขึ้นมาไม่ได้เพราะถนนขาด จึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 20 นาที ซึ่งเดินทางรถดีๆ มาได้พักหนึ่ง โฮมและลูกหาบน้องหมอก็พาลงทางลัดและชัน ฝ่าหญ้าลงมาอีก ถ้าเดินทางปกติอ้อมหน่อยจะถึงก่อนไหมเนี่ย 55+
ความที่พวกเราน่าจะลงมาเร็วเกินไป และคิวรถก็ยังส่งคนก่อนหน้าไม่เสร็จ เลยต้องนั่งรอรถจี๊ปมารับอยู่หนึ่งชั่วโมง พอลงมาถึงก็มีน้องคนหนึ่งเอาลูกอมมาเดินแจก เพราะว่าพรุ่งนี้เป็นวันเกิด อายุครบ 7 ปี ทางนี้ก็เลยค้นกระเป๋าเต็มที่ว่ามีอะไรเหลือบ้าง ก็พบคิทแคทที่น่าจะหักอยู่ห่อสุดท้าย มอบให้น้องไปเป็นของแลกเปลี่ยน กล่าวว่า Happy Birthday ว่าแต่น้องเข้าใจฉันไหมเนี่ย
เนื่องจากเราต้องแยกย้ายจาก Shiva (อายุน้อยกว่าเราหนึ่งปี) และคณะลูกหาบทั้งสามตรงนี้แล้ว ก็ได้เวลามอบซองทิปที่พวกเราได้มีมติตกลงร่วมกันว่าใส่เท่าๆ กันลงไป โดยให้พี่อุ๋ยเป็นตัวแทนกล่าวคำขอบคุณ
และแล้วก็ได้เวลานั่งรถจี๊ปกลับเข้าเมือง Pokhara ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เป็นการลงจากเขาที่ตื่นเต้นตลอดทาง ซ้ายก็เหว ขวาก็เขา เอะอะก็ผ่านน้ำตก ยิ่งเวลารถสวนกันห่างกันแค่ไม่กี่เซนติเมตรก็สุดจะลุ้นว่าจะผ่านไปได้ไหม นอกจากได้กล้ามขาแล้วก็ได้กล้ามแขนในการยึดเหนี่ยวตัวเองไม่ให้กระเด็นกระดอนไปตามแรงรถที่เหวี่ยงไปมา ซึ่งมาพบภายหลังว่ามีรอยช้ำม่วงเกิดขึ้นที่ช่วงเอวด้านซ้ายด้วย น่าจะโดนกระแทกประตูรถนี่แหละ 55+ (ณ วันนี้รอยช้ำมันยังเขียวอยู่เลย! — 18 ต.ค.)
1:37pm รถจี๊ปก็เดินทางมาถึง Hotel White Pearl ในเมืองโพคารา ทำการเช็คอิน เอากระเป๋าเข้าห้องเรียบร้อย พี่ๆ บางคนสามารถใช้เวลาอันสั้นในการผ่านน้ำได้ แต่พวกเราสามคนตัดสินใจว่าจะเน่าต่อไป ค่อยอาบทีเดียวตอนเย็นก่อนนอนเลย เราก็ได้แค่ล้างหน้าเช่นกัน ห้องพักกว้างขวางและมีห้องน้ำในตัว
หลังจากที่แปลงร่างใส่รองเท้าแตะ เปลี่ยนกระเป๋าอะไรเรียบร้อย ก็ออกเดินทาง ร้านแรกที่ทุกคนแวะคือร้านน้ำ มีทั้งน้ำเปล่าและน้ำอัดลม ราคาเป็นมิตรมาก ถูกกว่าบนเขาอย่างมากมาย เดินไปอีกนิดก็เจอทะเลสาบ ซึ่งก่อนจะไปไหนต่อ พวกเราขอเติมพลังกันก่อน ยังไม่ได้กินข้าวเที่ยงเลย หิวจะเป็นลมอีกแล้ว ใช้เวลารออาหารนานกว่าการกิน มื้อนี้พี่อาร์ทสั่งเนื้อวัวกระทะร้อนมา ซึ่งเหนียวแต่ก็อร่อยแหละ ไกด์ใครสักคนบอกว่า เนื้อวัวที่นี่จะต้อง Import เข้ามา จะไม่มีการฆ่าเกิดขึ้นในประเทศนี้
พอกินอาหารกันเรียบร้อย โฮมก็พาพวกเราไปลงเรือล่องทะเลสาบ ซึ่งตอนแรกพวกเราก็จะไม่ลงเพราะว่าขี้เกียจ แต่พอโฮมบอกว่ามันรวมอยู่ในแพ็คเกจแล้ว และต่อท้ายด้วย “Please” กับพนมมือทีไร ก็เลยต้องยอมทำตามทุกที
เป็นเรือแบบใช้คนพายให้ นักท่องเที่ยวสามารถช่วยพายเล่นได้ คนที่น้ำท่วมบ้านที่สุพรรณบุรีทุกปี เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติมาก อยากจะลงไปว่ายน้ำเล่นแทนมากกว่า ทะเลสาบที่นี่มีผักตบชวาแบบมินิมอล ไม่เหมือนกองผักตบชวาที่อยู่ในแม่น้ำท่าจีนเลย
น้ำในแม่น้ำมาจากเทือกเขาต่างๆ ก็คือน้ำแข็งที่ละลายลงมา แล้วคุณคนพายก็พาเราไปที่วัดเกาะกลางทะเลสาบ มีการใช้น้ำมะพร้าวเทสักการะแม่น้ำด้วย ส่วนเนื้อเอากลับไปกิน อารมณ์เหมือนกับการลอยกระทงบ้านเราที่อยากสักการะพระแม่คงคา แต่ทิ้งกระทง (ขยะ) ลงแม่น้ำแหละมั้ง ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยอินที่นี่เท่าไหร่ เพราะว่านกพิราบเยอะ มีควันธูป แล้วก็มีกลิ่นเหม็นแบบแปลกๆ ที่ไม่สามารถระบุได้ ก็เลยหนีไปนั่งรอที่ไกลผู้คนแทน
ลงเรืออีกครั้ง พากลับไปยังจุดที่ลงเรือมา พอขึ้นบกมาได้ก็เริ่มปฏิบัติการเดินช็อปปิ้ง ตามหาเสื้อ Mardi Himal เก้าทดลองชิมน้ำคั้นสดจากผลไม้ของร้านรถเข็น วินกับโฮมไปลอง Panipuri ข้างทาง ส่วนมื้อเย็นวันนี้ชาวคณะเราตัดสินใจเลือกกินเป็นภัตตาคารอาหารจีน รสชาติที่คุ้นเคยแต่ไม่คุ้นเพราะว่าเค็มกว่าปกติมาก 55+ โฮมดูไม่เอนจอยกับมื้อนี้เท่าไหร่ ไม่กินพวกเกี๊ยวด้วย เค้าบอกว่ามันลื่นๆ เค้าไม่กิน Seafood ด้วย อยากจะตะโกนบอกว่าพลาดแล้วเนี่ย อยากจะพากินแซลม่อนซาซิมิ! (จริงๆ คือเราอยากกินเองนี่แหละ)
หลังจากมื้ออาหาร เราก็เดินชมเมืองในยามค่ำคืน โฮมพาไปดูทะเลสาบตอนกลางคืนที่เดินผ่านเส้นทางมืดตึ๊บจนนึกว่าจะโดนหลอกไปฆ่าหมกซอย เดินผ่านสวนสาธารณะริมทะเลสาบ ร้านอาหารข้างทาง ร้านอาหารที่มีดนตรีสด แล้วก็มาจบที่ร้านรถเข็นหนึ่งที่โฮมบอกว่าอร่อยกว่า Panipuri ร้านแรกที่วินกิน ซึ่งร้านนี้มีคนกล้าลองแค่ วิน พี่อุ๋ย และเก้า ส่วนเรารับบทถ่ายคลิปเป็นหลักฐานการทำ ความรู้สึกเราตอนดูกรรมวิธีคือน่ากลัวอยู่นะ ใส่โยเกิร์ตด้วย ใส่ความเผ็ดด้วย ดีแล้วที่ไม่ลอง เพราะว่าวันรุ่งขึ้นจะต้องนั่งรถบัสยาวๆ กลัวจะไม่รอดจากการท้องเสีย จากนั้นก็เดินกลับมาโรงแรม เพื่ออาบน้ำสระผมอย่างจริงจัง เก็บกระเป๋ากันทุกวัน ยัดรองเท้าเดินป่าและไม้เทรคเข้ากระเป๋าดัฟเฟิล และเข้านอนกันอย่างไว
Day 7 | KATHMANDU (1400 m)
7:00am นัดหมายมื้อเช้าเวลาเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง มื้อเช้าวันนี้เป็น Breakfast ของทางโรงแรม แป้งนานอร่อยดี (เป็นคนกินแป้งเปล่าๆ ได้ ไม่ต้องจิ้มแกง) แล้วก็ออกเดินทางด้วยรถตู้ไปยังสถานีขนส่งรถทัวร์ ซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่ถึงสิบนาที ก็มาถึงรถที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน โฮมบอกว่า Best Case ที่เกิดขึ้นได้คือ 7 ชั่วโมง มาลุ้นกันว่าเราจะใช้กันกี่ชั่วโมง นี่ภาวนาเลยว่าขอให้เป็นไปตามกำหนดการ เพราะพี่อุ๋ยเล่าให้ฟังว่ามีครั้งหนึ่งอยู่บนรถแบบนี้ไป 13 ชั่วโมง รถติดบนเขานี่แหละ
พอมาถึงโฮมก็บอกว่าเรามีเวลาอีก 18 นาที แต่มองซ้ายมองขวาแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปที่ไหน ก็ขึ้นรถกันเลย ซึ่งรถนี้มีการระบุที่นั่งมาแล้วเรียบร้อย เป็นรถดีเลยทีเดียว แถวหนึ่งมีเบาะนั่งสามเบาะ เป็นเบาะหนังนิ่มๆ ที่ขาดบ้าง ที่ชาร์จแบตใช้ไม่ได้ เป็นงาน Mock up บนรถแจกขวดน้ำดื่มจำนวนหนึ่งลิตรให้คนละขวด เมื่อวานโฮมบอกว่าให้ติด Thin Jacket ขึ้นมาก็พอ ตัดภาพมาที่ความจริง แอร์หนาวเย็นมาก ทุกครั้งที่เร่งเครื่อง แอร์ก็จะเย็นขึ้นอีก ต้องขอบคุณตัวเองที่ยืมเสื้อดาวน์แจ็คเก็ตของวินมาใส่ พร้อมกับผ้าพันคออีกหนึ่งผืนเอามาห่มช่วงขา
รถออกตัวตรงเวลาแปดโมงเช้า แต่ก็มีจอดรับคนเพิ่มเติมระหว่างทางด้วย ผ่านไปสองชั่วโมงก็มาจอดแวะให้เข้าห้องน้ำที่จุดแรก ซึ่งให้เวลายี่สิบนาที ลงมายืนยืดเส้นยืดสายแล้วออกเดินทางกันต่อ ตอนแรกเราก็นึกว่าเค้าจะจอดให้กินตอนเที่ยง ผ่านมาเที่ยงครึ่งก็แล้ว บ่ายโมงก็แล้ว ก็ยังไม่ได้กิน เลยควานหากล้วยตากที่เหลืออยู่มางับๆ เข้าปากไปหนึ่งชิ้น
ก่อนจะมาแวะกินข้าวกลางวันอีกครั้งตอน 1:22pm เป็นไลน์อาหารบุฟเฟต์ ที่โฮมต้องไปแลกคูปองให้ก่อน มีแบบ Veg กับ Non-Veg ในฝั่งของ Non-Veg เป็น Dal Bhat ที่เติมแกงไก่ไม่ได้ (สิ่งที่อร่อยที่สุดแต่เติมไม่ได้!) แวะพักให้กินข้าวกลางวันและเข้าห้องน้ำตรงนี้แค่ 25 นาที จากนั้นก็บีบแตรเรียกขึ้นรถอีกครั้ง
หลับมาตลอดทาง เปลี่ยนท่าไปทุกทิศเท่าที่ร่างกายและเบาะอันจำกัดจะอำนวย เดินทางมาซักพัก ก็แวะเข้าห้องน้ำอีกครั้ง ตรงนี้ให้เวลาประมาณสิบนาที ตามที่คาดหวังคืออีกหนึ่งชั่วโมงเราควรจะต้องถึงตัวเมืองแล้ว แต่อะไรก็ไม่เป็นตามที่ใจหวัง ยิ่งเข้าใกล้เมืองก็ยิ่งรถติด รถติดที่แปลว่าเห็นคุณตำรวจแทบทุกแยก ข้อสังเกตของที่นี่คือไม่ค่อยมีสัญญาณไฟจราจรเท่าไหร่ ระหว่างทางสามารถขอลงได้
ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปได้ 9 ชั่วโมง 16 นาที พวกเราก็มาถึง Last Stop! ถึงเวลาลงจากรถบัสอย่างจริงจังแล้วจ้า พอลงจากรถบัสก็จะมีรถตู้มารับต่อ ใช้เวลาประมาณสิบนาทีเท่านั้น ก็กลับมาถึงโรงแรม Hotel Buddy ที่พักคืนแรกของเราที่ฝากของ “คุณไม่ได้ไปต่อ” เอาไว้จำนวนมาก
ที่พักคืนนี้ยังอยู่ชั้นเดิมแต่เปลี่ยนจากห้อง 407 ในคืนแรกเป็นห้อง 408 เอาของออก จัดของใหม่ จัดมันทุกวัน จนกระทั่งได้เวลาอาหารเย็นที่นัดกันตอน 6:30pm เป็นห้องอาหารอินเดียของโรงแรม มีสิ่งที่กินได้และไม่ค่อยได้ แต่โดยรวมก็คิดว่าอร่อยอยู่ แป้งนานเปล่าๆ ก็กินได้ (ครั้งหน้าควรพกนมข้นไปเผื่อในกรณีที่ไม่กินกับแกงต่างๆ ที่เค้าให้มา) มีผักสดแล้ว ซึ่งเราก็เน้นแตงกวาบีบมะนาวลงไป แก้เลี่ยนได้ดีทีเดียว
ตอนเย็นที่กินข้าวที่โรงแรม เราถามว่าถ้านั่งเครื่องกลับจะต้องเพิ่มกี่บาท มะดันบอกว่าน่าจะประมาณ 3 พันกว่าบาท ถ้าคิดจะกลับเครื่องบินน่าจะต้องดีลมาจากไทยเลย ฉันขอ Save Time มากกว่า Save Cost ได้ไหม รากงอกจะติดเบาะอยู่แล้ว
หลังจากอิ่มหมีพีมัน ก็ออกเดินทางไป Shopping กันยามค่ำคืน แวะเข้าร้าน 24/7 ที่เป็นเหมือนร้านขายของชำที่มีทั้งขนม สกินแคร์ เบียร์ ฯลฯ (มาร้านนี้ตั้งแต่วันแรก แต่วันแรกยังไม่ได้ซื้ออะไร) ได้ผ้าพันคอสีสวยมา แล้วก็ไปที่ร้านขายของ Trekking อีกครั้งซึ่งร้านนี้ได้เงินเราตั้งแต่วันแรก มาวันนี้ก็ได้เสื้อแจ็คเก็ตสีแดงอีก พอซื้อของกันอย่างจุใจก็เดินกลับที่พัก แวะพักตัดสินใจกันนิดหนึ่งว่า พรุ่งนี้หลังอาหารเช้า จะไปเที่ยวไหน จัตุรัส Durba หรือตลาด Local ด้วยความเหนื่อยและสมองไม่แล่น เลยตกลงกันว่าค่อยคิดพรุ่งนี้แล้วกัน พอขึ้นห้องไป ก็เก็บกระเป๋าอีก (เก็บมันทุกวัน) อาบน้ำ เปิดดูทีวีที่ไม่เข้าใจภาษา และเข้านอนที่ดึกกว่าทุกวัน (ประมาณห้าทุ่ม) น่าจะเป็นเพราะนอนในรถบัสมาอย่างยาวนานเกินไป
Day 8 | DEPARTURE FROM KATHMANDU
ยังคงธรรมเนียม 7am กินข้าวเช้าไม่เปลี่ยนแปลง ในที่สุดวันนี้ก็ได้กินบุฟเฟต์โรงแรมแบบไม่ต้องแพ็คใส่กล่องแล้ว อาหารเยอะอยู่ แต่พวกขนมปังก็รู้สึกว่าไม่อร่อยตามเคย ขณะที่กำลังกินอยู่ พี่หนุ่มพี่เก่งก็เดินกลับมาจากการไปจัตุรัส Durba (ไม่ได้เข้า แค่เดินภายนอก) ที่ระยะทางไปกลับคือ 1.6 กิโลเมตรคูณสอง เลยขอดูรูปพี่หนุ่ม แล้วตัดสินใจได้อย่างไม่ยากเย็นว่า ไปเดินตลาด Local ดีกว่า โฮมเป็นแกนนำในการเดินเช่นเคย ถ้าเดินเองก็หลงทางอ่ะ
มีของขายตามข้างทาง ทั้งในบ้านและแบกับดิน มีสถาปัตยกรรมเก่าๆ บางที่ก็ดูเป็นเศษซากที่หลงเหลือจากแผ่นดินไหว ฝุ่นเยอะมาก ขนาดที่ใส่หน้ากากออกมาก็ยังสัมผัสได้ถึงฝุ่น ผู้คนเยอะ เดินกันวุ่นวาย แล้วก็ที่นี่บีบแตรกันครึกครื้นมาก คือเค้าบีบเป็นการแจ้งเตือน แต่มันแจ้งเตือนกันมากมายเกินไป จนบางทีก็รู้สึกว่า พี่ขับมาเลยค่า ไม่ต้องบีบแตรแล้ว ปวดหัว 55+
ออกมาเดินข้างนอกแล้วจะไม่เสียเงินได้ไง ก่อนกลับโรงแรมก็ยังคงเสียเงินกับกำไลหิน แม็กเน็ตติดตู้เย็น สกินแคร์อีกนิด และผ้าบัพจากร้าน Trekking ร้านเดิม จนบางทีก็สงสัยว่าคุณพี่เค้าปิดร้านบ้างไหม มาหาทีไร เวลาไหนก็เปิด แล้วก็เสียเงินทุกรอบ อยู่ๆ ก็รู้สึกอยากเป็นนักลงทุนในร้านนี้ขึ้นมาเลยค่ะ
พอซื้อของเสร็จก็กลับไปยัดของลงกระเป๋าอีก จัดกระเป๋ามันทุกครึ่งวัน นัดหมายเจอกันที่ Lobby ตอน 10:20am แต่รถตู้มารับจริงๆ ตอน 10:45am ซึ่งตอนที่รถตู้ยังไม่มารับ มะดันมีความโทรตามเลิ่กลั่กมาก ถ้าตกเครื่องก็คือ เลี้ยงด้วยน้า 55+
จากโรงแรมที่พักมายังสนามบินใช้เวลา 20 นาที รีบเอาของลงจากรถตู้ใส่รถเข็น แบกขึ้นหลัง แล้วก็ต้องไปต่อแถวเพื่อแสดง Passport, e-ticket และสแกนกระเป๋ารอบแรก ทำให้เราต้องลาจากโฮม ไกด์อายุ 27 ปีของเราแค่เพียงตรงนี้ เลยทำการมอบซองทิปกันระหว่างต่อแถวเลย พอเข้ามาได้แล้วก็ต้องไปต่อแถวเพื่อเช็คอินและโหลดกระเป๋าอีก ขากลับสองใบของเรารวมกันปาไป 20.2 กิโลกรัม ของที่ซื้อเพิ่มไปนี่มันก็เยอะเหมือนกันนะเนี่ย เพิ่มมาหลายกิโลเลย แฮ่~
พอได้ตั๋วกันเรียบร้อยก็ขึ้นบันไดเลื่อนไปต่อแถวเพื่อผ่าน ตม. อีก รอไม่นานเท่าไหร่ แค่เกือบ 40 นาที! ผ่านเข้ามาได้ปุ๊บ วิ่งไปเข้าห้องน้ำก่อนเลย พอออกมาก็จะเจอ Security Check อีก ซึ่งเป็นการแยกกันระหว่างหญิง/ชาย คนละช่อง ของทุกอย่างต้องผ่านการสแกนรวมรองเท้าผ้าใบ แล้วก็จะโดน พนง.หญิง ลูบๆ ไปทั้งตัวด้วย ผ่านเข้ามาเรียบร้อยก็คือหิวมากเพราะมันเที่ยงครึ่งแล้ว เลยไปร้านขายของในสนามบินที่มีอยู่ร้านเดียว สั่ง Wrap Veg มา เผ็ด! เลยเทๆ ไส้ออกแล้วกินแต่แป้งให้หมด ที่นี่มีจุดให้เติมน้ำดื่มอยู่หนึ่งจุด ห้องน้ำก็มีหนึ่งจุด สนามบินไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับ BKK เรา พอได้เวลาก็ประกาศให้ขึ้นเครื่อง ที่นี่เป็น Bus Gate หมดนะ แต่ก็ขึ้นไปยืนบนรถแป๊บเดียวก็มาถึงเครื่องบินละ
WE320 Kathmandu-Bangkok 13.40–18.25 ดีเลย์การขึ้นไปเกือบครึ่งชั่วโมง กัปตันบอกว่าสภาพการจราจรหนาแน่นที่ KTM รันเวย์ไม่ว่างจ้ะ พอเครื่องขึ้นมาได้ประมาณชั่วโมง ก็จะเป็นมื้ออาหาร เลือกเป็นไก่เช่นเคย แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ข้าวมันไก่แล้ว เป็นแกงไก่กะทิแบบไทยๆ แทน กินไม่หมดแม้จะอร่อย (ไม่น่ากิน Wrap มาก่อนเลย อืดมาก) และแน่นอนว่า Snack ก็ยังคงเป็นถั่วยี่ห้อเดิม
กินๆ นอนๆ ตื่นๆ มาเกือบสี่ชั่วโมง เราก็เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยจนได้ ลงจากเครื่องก็เป็น Bus Gate อีก ที่ชอบคือ ตม. ขาเข้าไม่มีคิวเลย เร็วมาก สแกนนิ้ว ถ่ายรูป ผ่านได้อย่างไว ไม่ถึง 3 นาที แต่มารอรับกระเป๋าที่โหลดไป 40 นาที! อะไรมันจะเดินทางนานขนาดน้านนนน พอได้กระเป๋าแล้วก็ได้เวลาต้องแยกย้ายกับชาวคณะ ซิ่งกลับบ้านกันอย่างไว เพราะเหล่าคนที่มารอรับต่างจะโดนใบสั่งกันหมดแล้ว
ความพีคต่อเนื่อง เมื่อเก้าที่มีอาการป่วยเห็นชัดประมาณ 2 วันที่แล้ว กลับมาตรวจ ATK ที่คอนโดแล้วขึ้น 2 ขีดในช่วงกลางคืนที่กลับมาถึงเลย ทางนี้ก็รับบทวิตกกังวลทันทีเพราะว่าตลอดทริปก็คือนั่งกินข้าวข้างกัน นอนร่วมห้องเดียวกัน นั่งเครื่องกลับมาก็ข้างกัน ตรวจทันทีที่ถึงบ้าน ยังเป็นขีดเดียวอยู่
ผ่านไปได้ 1 วัน ช่วงบ่ายๆ-กลางคืน มีอาการเหมือนเป็นไข้ต่ำๆ เมื่อยตัว น้ำมูกไหลเล็กน้อย กินพารากับยาแก้แพ้แล้วนอน ผ่านไปอีกคืน
ณ วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม เวลา 7:00am ตื่นมาแล้วพบว่า มีอาการเจ็บคออย่างผิดปกติ ก็เลยตรวจดู ก็ขึ้น 2 ขีดชัดเจนแบบแจ่มแจ้ง นี่คือการติดโควิดรอบที่ 2 ของเรา (รอบแรกคือช่วงปลายเดือนเมษายน) เชื้อรอบนี้ได้รับการ Import มาจากประเทศเนปาล นี่ยังอยู่ในระยะสามเดือนของวัคซีนเข็มสี่อยู่เลยนะ หวังว่าอาการจะไม่หนักเท่ากับรอบแรก
ผ่านไปอีกหนึ่งวัน ณ วันอังคารที่ 18 ตุลาคม วินก็ขึ้นสองขีดตามมา สรุปว่าแก๊งไฟจราจร เกมโอเวอร์กันหมด T__T
การแต่งกาย
สำหรับคนที่ตัวเย็นและขี้หนาวแบบเรา (ปกติ 25 องศาก็หนาวแล้ว) โดยรวมแล้วที่เนปาลในเดือนตุลาคมนี้ อากาศทั่วไปเย็นกว่าประเทศไทย แต่แดดก็แรงกว่ามากเช่นกัน
Day 1 | KATHMANDU (1400 m)
- วันเดินทางจากไทยไป สามารถแต่งตัวตามปกติประเทศไทย (ที่มีหน้าร้อนมากกว่าหน้าหนาว) ได้เลย
- ชุดนอน ตามสะดวก เพราะนอนพักในโรงแรม
Day 2 | PITAM DEURALI (2100 m)
- จากกาฐมาณฑุไปที่พักคืนแรก ตอนแรกก็ใส่เสื้อยืดกีฬากับเสื้อคลุมกันลม แต่พอเดินขึ้นบันไดได้สักพัก เหลือเสื้อกีฬาอย่างเดียว เพราะเหงื่อท่วม กางเกงเหมือนป่าไทยได้อยู่
- ชุดนอน ใส่ Heattech แขนยาวแบบบางของ Uniqlo กับ กางเกงนวมบุขน เวลาออกมาด้านนอกก็ใส่เสื้อกันลมเพิ่ม ถุงเท้าวูลบุขนอุ่นหนานุ่ม
Day 3 | LOW CAMP (2970 m)
- ตอนเดินคือเสื้อกีฬา กางเกงเดินป่าตามปกติเช่นเคย แต่อาจจะเป็นเพราะฝนตกลงมา ทำให้เกิดความเย็นเยือกมากกว่าปกติ นั่งพักนานๆ แล้วจะเกิดอาการขนลุกได้
- ชุดนอน ใส่ Heattech แขนยาวแบบบางของ Uniqlo กับ กางเกงนวมบุขน เวลาออกมาด้านนอกก็ใส่เสื้อ Fleece และ/หรือกันลมเพิ่ม ถุงมือ Heattech ของ Uniqlo เช่นกัน ถุงเท้าวูลบุขนอุ่นหนานุ่ม
Day 4 | HIGH CAMP (3550 m)
- ตอนเช้าที่ Low camp เริ่มมีความเย็นละ ก็เลยใส่ Heattech แขนยาวแบบบางของ Uniqlo กับเลกกิ้งและกางเกงวอร์มบางๆ ของ Uniqlo
- ชุดนอน เปลี่ยนเป็นใส่ Heattech แขนยาวแบบหนาระดับสองหรือสามนี่แหละของ Uniqlo กับเลกกิ้ง กางเกงนวมบุขน เวลาออกมาด้านนอกก็ใส่เสื้อ Fleece และ/หรือกันลมเพิ่ม ถุงมือ Heattech ของ Uniqlo เช่นกัน ถุงเท้าวูลบุขนอุ่นหนานุ่ม หมวกไหมพรมก่อนนอนด้วยก็ได้ แต่ใส่แล้วก็จะหลุดออกมาจากหัวเอง ตอนกลางดึกเหลือ 1 องศาด้วย บรื๋อออ
Day 5 | MARDI HIMAL View Point (4000 m)
- ออกเดินแต่เช้ามืดจะหนาวมาก เสื้อใส่ Heattech แขนยาวแบบหนา ต่อด้วยเสื้อฟลีซคอเต่า แล้วทับด้วยกันลมอีกที ผ้าบัพคอแบบให้ความอบอุ่น กางเกงใส่เลกกิ้ง ลองจอนบาง และปิดท้ายด้วยกางเกงวอร์ม ถุงมือ heattech ถุงเท้ายังใส่ตามปกติได้
- ที่ยัดใส่กระเป๋าไปเพิ่มคือ หมวกไหมพรม ถุงมืออย่างหนาอีกชั้นที่ซื้อที่ KTM และเสื้อฟลีซอีกตัว ซึ่งพอไปถึงยอด เอามาใช้เพิ่มแค่หมวกและถุงมือที่ใส่สองชั้น
- ชุดนอน กลับมานอนที่ Low Camp แล้ว เสื้อฟลีซคอเต่า กางเกงนวมบุขน ถุงมือ Heattech ถุงเท้าวูลบุขนอุ่นหนานุ่ม เวลาออกมาด้านนอกก็ใส่เสื้อ Fleece และ/หรือกันลมเพิ่ม
Day 6 | POKHARA (1400 m)
- ใส่เสื้อฟลีซคอเต่าของเมื่อคืนเดินลง กับกางเกงเดินป่าธรรมดา เพราะยิ่งเดินลง อากาศก็จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ อากาศในเมืองก็คือยี่สิบต้นๆ นะ แต่กลายเป็นร้อนเฉยเลย
- ชุดนอน ตามสะดวก เพราะนอนพักในโรงแรม
Day 7 | KATHMANDU (1400 m)
- บน Tourist Bus หนาวมาก กรุณาพกเสื้อกันหนาวอย่างหนาติดตัวไว้ด้วย กลับมาที่ในเมืองอีกครั้ง ช่วงกลางคืนที่ออกไปเดินเล่น เหลือประมาณ 17 องศา แต่ก็ยังทนกันได้อยู่ ด้วยเสื้อยืด กางเกงวอร์มปกติ แต่ก็มีความหนาวยะเยือกบ้างตอนมีลม
- ชุดนอน ตามสะดวก เพราะนอนพักในโรงแรม
Day 8 | DEPARTURE FROM KATHMANDU
- แต่งตัวแบบพร้อมกลับประเทศไทยได้เลย
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- อายุไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้าออกกำลังกายตลอดเวลา อย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำ (ย้ำ) รักจะเที่ยวอะไรยากแบบนี้ ห้ามขี้เกียจ จงจำวันที่ขึ้น Base Camp ไม่ไหวเอาไว้ ต่อให้เสียดายแค่ไหน ถ้าร่างกายไปไม่ไหวก็อย่าฝืน
- การรู้จักตัวเอง ประเมินสภาพร่างกายตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ครั้งก่อนที่ไปคินาบาลูก็คิดว่าเคยเป็น AMS มาแล้ว (พะอืดพะอม จะอ้วก ปวดหัว) ครั้งนี้ที่ High Camp มื้อเย็นก็กินข้าวไม่ลงอีก พอสังเกตได้ว่าตัวเองไม่ปกติ การกินยาทันทีเป็นสิ่งที่ช่วยได้ เพราะว่าวันรุ่งขึ้นตื่นมาก็ไม่มีอาการอะไรอีก สำหรับเราการขึ้นที่สูง ไม่ได้มีผลกับความโง่แต่อย่างใด ยังสามารถคิดเลข คิดเงินได้ จำแม่นเหมือนเดิม
- การท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ คือการที่เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เจอสถานการณ์แบบไหนก็ต้องปรับตัวไปตามนั้น มาครบทั้ง แดด ฝน หนาว (และทากดูดเลือด ฮือออ) ต้องจำยอมเพราะไม่อาจต่อสู้ได้ การเตรียมพร้อมคือสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเจออะไรก็งัดอุปกรณ์ออกมาช่วยได้ แต่ถ้าร่างกายไม่ไหวอันนั้นเป็นอีกเรื่อง
- การ Cheer Up ของไกด์ และ push the limits เป็นสิ่งที่ดีมาก อยากให้เราไปได้ไกลที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับการตัดสินใจของเราด้วย รวมถึงประเมินระยะเวลาที่เราจะใช้ในการเดินจริงตาม Pace ของนักเดินทาง แม้จะขิงตลอดเวลาว่าถ้าเป็นของตัวเองจะใช้เวลาน้อยกว่านี้
- ทำใจกับสภาพห้องน้ำและห้องนอนไว้เสมอ โดยรวมถือว่าสภาพค่อนข้างดีเลย ถ้าเทียบกับป่าในไทยที่ไม่มีห้องน้ำเป็นกิจจะลักษณะ (ส้วมหลุมหรือขุดดินกลบเอง) ถึงแม้ว่าหลายครั้งจะเห็นซากอารยธรรมคาอยู่ในห้องน้ำและมีกลิ่นรุนแรงบ้างในบางที่ก็ตาม อดทน กลั้นใจเอาหน่อย ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อทำให้บรรยากาศมันดีขึ้น
- พี่อุ๋ยกล่าวว่า ถ้าคิดจะไป EBC ให้ออกกำลังล่วงหน้า 6 เดือน สควอทให้ได้วันละ 200–300 ครั้ง คำว่าออกกำลังของพี่เขาคืออย่างน้อยน่าจะฮาล์ฟมาราธอน ผมนี่ดมยารอเลย ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน วันลา แต่ร่างกายคือสิ่งสำคัญมากๆ
- ไม่ควรแบกของน้ำหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัวเอง เพราะว่าจะเกิดอาการหมดแรงได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ จริงๆ แล้วเราควรไปหากระเป๋า daypack อันใหม่ที่เล็กและเบากว่านี้ (อันปัจจุบันแค่น้ำหนักกระเป๋าก็ 1 กิโลกรัมได้) แต่! มนุษย์เรามีความสามารถในการแบกของที่หนักกว่าตัวเองได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ เห็นลูกหาบบางคนแบกเตาผิงสวนขึ้นไป หนักประมาณ 70 กิโลกรัมแหนะ
- นอนบนเขาหลับง่ายกว่านอนในเมือง เพราะไม่มีแสงสีเสียงรบกวน แล้วก็ไม่มีอะไรให้ทำ
- ผู้คนและนักเดินทางที่เจอบนเขามักน่ารักเสมอ แม้จะมาจากคนละประเทศ คนละเชื้อชาติ คนละหน้าที่การงาน เดินผ่านกันก็ทักทายกัน Hi, Hello, Morning, Have a nice day, นมัสเต
- การเดินทางในฤดูกาลนี้ต้องทำใจเผื่อไว้แล้วว่ากลับมาจะติดโควิด ถึงแม้ไม่อยากติด แต่สุดท้ายก็ติดอยู่ดี (ฮือ)
สิ่งที่ควรพกไปนอกเหนือจากเครื่องแต่งกาย
- ทิชชูแห้ง ทิชชูเปียก สเปรย์ฆ่าเชื้อดับกลิ่น (ถ้าแบกไหว) เอาไว้ใช้เข้าห้องน้ำ ได้ทุกสถานการณ์ตั้งแต่สนามบินยันบนเขา สเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือด้วย เพราะว่าบางที่ก็ไม่มีน้ำ
- น้ำปลา ผงโรยข้าวญี่ปุ่น ผงมาม่า ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก กล้วยตาก (Banana Power!) พวกปลาแห้งที่พี่หนุ่มพี่เก่งพกไปก็ดี คราวหน้าควรมีหมึกบดอีกสักอย่าง
- อุลตร้าคาร์บอน ผงเกลือแร่ทั้งแบบเสียเหงื่อและท้องเสีย (เป็นคนท้องเสียง่าย)
- ยานวดคลายกล้ามเนื้อ พกไปด้วย วันหลังๆ ตึงน่องมาก (แถมยังให้ลูกหาบยืมได้ด้วย)
- ไม้เทรคก็สำคัญ ถ้าร่างกายไหวก็ข้างเดียว ถ้าเอาชัวร์ก็ 2 ข้าง ปลอดภัยต่อการข้อเท้าพลิกมากกว่า
- ถ้ารองเท้าเดินป่ามีอายุขัยการใช้งานมานาน แนะนำให้เย็บพื้นมาก่อน (ซึ่งเราก็เย็บมาเช่นกัน)
- เนื่องจากมีประสบการณ์ตอนต้นปี ที่ไปลังกาน้อยลังกาหลวงแล้วโดนรองเท้ากัดด้านหลัง รอบนี้ก็เลยซื้อแผ่นแปะ เทปพัน ซิลิโคน จัดเต็มมาก ซึ่งดี เท้าปลอดภัยไม่มีการถลอกเป็นแผล
- ผ้าอาบน้ำ ได้ใช้ 1 คืน วันที่นอน High Camp
- แผ่นอนามัย พอเปลี่ยนบ่อยๆ ช่วยให้รู้สึกสะอาด แม้ว่าจริงๆ แล้วตัวจะเน่า
- ไม่เคยใช้ถุงน้ำมาก่อน นี่เป็นการใช้ครั้งแรก ที่รู้สึกว่า work มาก เพราะว่าเหนื่อยเมื่อไหร่ก็ดูดน้ำกินได้เรื่อยๆ เลย ไม่ต้องหยุดเดินเพื่อหยิบขวด
- กระบอกน้ำร้อนขนาดไม่ต้องใหญ่มาก เอาไว้กินในช่วงที่อากาศหนาวเย็นจัด ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นการกินตอนอยู่ที่พักในช่วงกลางคืน — เช้าตรู่
- รองเท้าแตะ อย่ากำจัดจุดอ่อนสิ่งนี้เด็ดขาด เพราะว่าตอนอยู่ที่พักเราจะไม่อยากใส่รองเท้าเดินป่าเลยแม้แต่นิดเดียว
- ผ้าพันเข่า ตัวเองไม่ได้ใช้แต่พี่หนุ่มได้ใช้ ผ้าพันข้อเท้าเผื่อข้อเท้าพลิกก็ไม่ได้ใช้เหมือนกัน แต่มีไว้อุ่นใจกว่า
สิ่งที่พกไปแล้วไม่ได้ใช้ ครั้งหน้าไม่ต้องเอาไปก็ได้
- ร่ม (เชื่อพี่หนุ่ม เลยพกไป) วันที่ฝนตกก็ลื่นเกินกว่าจะกาง วันที่มีแดดเปรี้ยงขาเดินลงก็ไม่ได้กาง เพราะว่ายัดไว้ในกระเป๋าดัฟเฟิลที่อยู่กับลูกหาบ
- หนังสือ เอาไป 2 เล่ม ไม่ได้อ่านสักเล่ม ว่างปุ๊บก็หลับ
- หน้ากากอนามัย เอาไว้ใช้ในเมืองพอไม่ต้องขนขึ้นเขา
- แผ่นแปะร้อนที่ซื้อไปหนึ่งกล่องเพราะว่ากลัวหนาว สุดท้ายไม่ได้ใช้เลยสักแผ่น
- Power Bank เอาแค่ 20000 ไปก้อนเดียวพอ ก้อน 10000 ไม่ได้ใช้เลย เพราะว่าบางที่พักยังมีปลั๊กให้เสียบชาร์จได้อยู่
- ปลั๊กพ่วง ทิ้งไว้ในเมือง กลายเป็นจุดอ่อนเนื่องด้วยความหนัก
- กระบอกน้ำธรรมดา ทิ้งไว้ที่โรงแรมในเมือง แล้วใช้ขวดน้ำพลาสติกปกติเลย
สุดท้ายแล้ว ยินดีที่ได้รู้จักพี่ๆ ทุกคนเลย เป็นชาวคณะ 7 คนที่สนุกมาก คอยเป็นห่วงกันอยู่เสมอ มีอะไรก็แบ่งปันกัน ขอบคุณแอดมิน Nepal101 ไกด์และลูกหาบทุกคนที่คอย support เป็นอย่างดีด้วย เป็นทริปเนปาลครั้งแรกที่ดีต่อใจมากๆ เลย (แต่ไม่ดีต่อร่างเท่าไหร่ น่องพัง แถมติดโควิดอีก!) หากทำอะไรให้ขุ่นข้องหมองใจ ล่วงเกินประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้อีกครั้งค่ะ :)
หมายเหตุ: เนื้อหาใน Blog นี้ใช้เวลารวมร่างจากสมองและสองมือ ทั้ง Text, Image, Video จำนวน 3 วันเต็ม ขอบคุณภาพสวยๆ จากผู้ร่วมทริปทุกคนด้วยค่ะ