#priwreadbooks เอนหลังฟัง: ศิลปะการฟังอย่างลึกซึ้ง

Parima Spd
2 min readMay 21, 2023

#สวนเงินมีมา ภินท์ ภารดาม เขียน

เราสร้างโลกผ่านการฟัง สำคัญเพียงนี้แต่ไม่มีโรงเรียนที่ไหนสอน
ใจไร้น้ำหนัก ฟังอะไรไม่ได้
ใจวุ่นวาย แทรกแซงการฟัง
ใจนัวเนีย เบี่ยงเบนการฟัง
ผู้รู้ย่อมฟังเป็น

ศิลปะแห่งการฟัง อาจสอนกันยาก แต่เรียนรู้ได้

หนังสือที่บอกเล่าศิลปะการฟังอย่างลึกซึ้ง ผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนา หรือ Dialogue ตามแบบอย่างของ “เดวิด โบห์ม” ซึ่งเอาจริงๆ นะ เป็นหนังสือที่อ่านยากมาก T_T อ่านแล้วจะง่วงหนักมาก หนังสือถูกเขียน พ.ศ. 2556 ก็จะรู้สึกเหมือนย้อนอดีตไปบ้างกับบางเทคโนโลยีที่ถูกเขียนในหนังสือ

จับประเด็นสาระสำคัญได้ประมาณหนึ่ง ที่ไม่ใช่การบอกเล่าสถานการณ์ต่างๆ ในเรื่อง ได้ประมาณนี้

  • การห้อยแขวน คือ การฟังโดยไม่ตัดสินว่าผิดหรือถูก ชอบหรือไม่ชอบ ฟังอย่างมีอุเบกขา (ภาษาบาลี: อุเปกขา ภาษาสันสกฤต: อุเปกษา แปลว่า ความวางเฉย ความวางใจ เป็นกลาง) และพยายามจะเข้าใจเรื่องราว สาระ และอารมณ์ของผู้เล่า พยายามฟังอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งการพูดและการฟังให้บรรลุมาตรฐานขั้นนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการฝึกฝน ทำด้วยตัวเอง ให้มีสติรู้ตัว ทั้งกายและใจระหว่างการสนทนา การดึงศักยภาพแห่งการสนทนาที่ซ่อนลึกในตัวเราให้ออกมาได้นั้น ต้องมีเพื่อนที่ช่วยกันฝึก
  • จิตใจของเราทำหน้าที่ได้ทีละอย่าง ถ้าเรากำลังคิด เราก็จะไม่ได้ฟัง ถ้าหากเราฟังจริงๆ เราก็จะไม่ได้คิด แต่บางคนบอกว่า ฟังด้วยคิดด้วย จริงๆ แล้ว เพราะเราไม่ละเอียดในการสังเกตตัวเอง อีกอย่างเป็นเพราะจิตใจเราทำงานเร็วมากจนดูเหมือนว่า เราสามารถที่จะทำอะไรได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นคนละขณะเวลา
  • คนส่วนใหญ่ฟังแต่ไม่ได้ยิน เพราะใจไม่ได้อยู่กับการฟัง การคิดตามตลอดระหว่างที่ฟัง เรียกว่า ฟังอยู่ แต่ไม่ได้ยิน
  • หรือบางทีได้ยินอยู่ แต่ก็ไม่ได้ฟัง การได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง คือเราไม่ใส่ใจกับเสียงที่เข้ามากระทบหู เสียงที่ได้ยินก็เป็นเพียงคลื่นเสียงไม่ได้มีความหมายอะไร

อาร์ ดี แลงจ์ เคยกล่าวว่า

ถ้าหากฉันไม่รู้ว่า ฉันไม่รู้ ฉันคิดว่า ฉันรู้
ถ้าหากฉันไม่รู้ว่า ฉันรู้ ฉันคิดว่า ฉันไม่รู้

  • มันเป็นเรื่องยากที่เราจะตั้งใจจดจ่ออยู่กับการฟังเพียงอย่างเดียว เพราะธรรมชาติของจิตใจคนเราไม่ชอบอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว การเผลอแวบไปจึงเป็นเรื่องปกติ และเมื่อใดที่เราเผลอไปคิดเรื่องอื่นๆ และใจไม่ได้อยู่กับการฟังแล้วล่ะก็ เราจะเกิดอาการ ฟังแต่ไม่ได้ยิน
  • แต่อีกพวกน่าจะเรียกว่า หูทวนลม เพราะใจไม่ได้อยู่กับการฟังแต่แรกแล้ว จึงได้ยินอยู่ แต่เพราะไม่ใส่ใจฟัง จึงไม่รู้ว่าเขาคุยเรื่องอะไรกัน
  • การฟังอาจจะไม่จบลงแค่คลื่นเสียงที่แปลเป็นคลื่นไฟฟ้าและตีความด้วยสมอง แต่มีเรื่องราวของจิตใจที่เป็นนามธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อฟังแล้วก็เกิดความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบใจเกิดขึ้นประกอบด้วยเสมอ ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เมื่อได้ยินแล้วเกิดอะไรขึ้นกับใจ
  • การรับฟังขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้รับ เจตนาก็คือความตั้งใจ ซึ่งเจตนาของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะ
  • การจั่วหัวเรื่องของการสนทนาเป็นสิ่งสำคัญ เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับความเป็นไปได้ เป็นการสร้างรันเวย์ให้เครื่องบิน เพื่อจะบินยกระดับการสนทนาไปอีกขั้นหนึ่ง การพูดคุยอย่างนี้แตกต่างจากความเร่งรีบของการใช้ชีวิตในโหมด สู้ยิบตา ที่จะต้องบังคับให้การสนทนาอยู่ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เพื่อประหยัดเวลา เงื่อนไขแบบนี้ทำให้เราไม่สามารถขยับขยายไปสู่การสนทนาแบบลึกซึ้ง ความแห้งแล้งในปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นเพราะเราเร่งรีบจนเกินไป การสนทนามีวงจรชีวิตของมันที่ไหลเปลี่ยนแปรตลอด
  • การฟังก็คิดเหมือนกัน แต่เป็นการคิดตาม ถ้าไม่คิดตาม ก็จะกลายเป็นคิดดักหน้า หรือคิดไปเรื่องอื่น ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ทำให้เกิดการฟังที่ไม่สมบูรณ์
  • การคิดตามคือใจจะทำงานตามไปกับเสียงที่ฟัง ใช้การสังเกต แต่ต้องไม่น้อยไปหรือมากไป ไม่เช่นนั้นจะล้ำหน้าเสียงที่ฟัง
  • การสั่งสม คือการบ่มนิสัย สั่งสมมาก่อนจนถึงจุดหนึ่งถึงรู้ได้เองโดยไม่ต้องคิดวิเคราะห์
  • ความรู้สึกที่ต้องใช้ใจฟัง หากฟังไม่ถูก เราจะขัดขวางการฟัง
  • เวลาฟังไม่ยอมฟัง แต่พอจบแล้วไปคิดเอาเอง
  • เกิดเป็นคนมันห้ามความคิดไม่ได้หรอก แต่ให้ออกจากความคิดให้ได้ กลับมาที่ความรู้สึกตัว
  • ความชอบใจ ไม่ชอบใจเกิดขึ้นตลอดเวลาในขณะที่ฟัง อยู่ที่ว่าเราจะสังเกตเห็นมันหรือไม่ การสนทนาจึงเต็มไปด้วยการหลับใหล
  • การฟังแล้วจมไปในเรื่องราวที่คุยกัน ทำให้ไม่เห็นรายละเอียดว่า เรากำลังคุยกันเรื่องอะไร หรือการสนทนากำลังดำเนินไปถึงไหนแล้ว ยิ่งจมลึก ระดับความรู้สึกตัวจะน้อยลงไปทุกขณะ ให้รู้สึกตัวแทนที่จะเตลิดไปกับอารมณ์ที่เข้ามากระทบจิตใจ
  • สิ่งที่พูดออกมา เป็นความรู้สึก หรือคิดเอา “คิด” คือความคิดเห็น เช่น “คนเราสมัยนี้มันฉาบฉวย ไม่มีปฏิสัมพันธ์อย่างแท้จริง” ส่วนรู้สึก เช่น “รู้สึกไม่พอใจเวลาโดนเพื่อนเหวี่ยงใส่”
  • คนรู้ทฤษฎีมาก ก็เหมือนขุนศึกแบกอาวุธไว้เต็มหลัง แต่พอจะเอามาใช้ก็ไม่ทันการ อาวุธต้องหมั่นลับและฝึกฝน
  • ชีวิตเป็นของเล่น แต่ถ้าเล่นไม่เป็นจะเจ็บตัว
  • ไม่ว่าจะเปลี่ยนงาน คนรัก ที่อยู่ กี่ร้อยครั้ง สิ่งที่เราเปลี่ยนไม่ได้คือใจของเรา ถ้ายังอยู่กับตัวเองไม่เป็น จะอยู่กับใครไม่ได้ทั้งนั้น
  • สิ่งที่ทำวันนี้มีผลต่อวันพรุ่งนี้ และสิ่งที่ทำวันพรุ่งนี้มีผลต่อวันถัดไป เราสั่งสมอะไรบ้างทุกวันนี้ และเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามันนำไปสู่อะไร และยิ่งเราไม่แน่ใจว่ามันนำไปสู่อะไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราทำทุกวันนี้มันดีแล้ว
  • ถ้อยคำรับรู้ผ่านการได้ยิน อารมณ์ความรู้สึกรับรู้ได้โดยการสังเกตอากัปกิริยา อาการของผู้พูด แต่เจตนาต้องใช้ใจไปรับรู้อย่างเดียว
  • ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก ทำเจตนาให้มั่น เราก็สั่งสมความมั่นใจ ไม่ลังเล
  • การฟังด้วยความรู้สึกตัวต้องอาศัยการสั่งสม เริ่มจากการสังเกตความเป็นไปในใจของเรา ซึ่งไม่ว่าง และบางทีเราก็มีอคติเข้าไปผสม จนกลายเป็นเราไม่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้น
  • ฟังไม่ใช่ปัญหา แต่ฟังแล้วเกิดอะไรขึ้นในใจต่างหากที่เป็นปัญหา
  • เราตัดสินทุกคำที่เราได้ยิน เพราะเราฟังแล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาทันที
  • การถือนิสัย คือคนที่บวชแล้วต้องไปอยู่กับอุปัชฌาย์อาจารย์อย่างน้อยห้าพรรษา เมื่อได้นิสัยแล้ว จึงถือว่าได้การ ซึ่งอาจารย์จะสังเกตลูกศิษย์แต่ละคนว่ามีนิสัยอย่างไร แล้วจะมีการฝึก ซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นฐานแต่ละคน
  • ตัดรองเท้าให้พอดีเท้า ไม่ใช่ตัดเท้าให้เข้ากับรองเท้า
  • แนะคือพูดให้ฟัง แต่บอกเฉยๆ ก็ยากจะทำตาม อาจารย์ก็ต้องเป็นตัวอย่างให้ศิษย์ด้วย ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทำอย่างที่ตัวเองบอก ที่ตัวเองสอน ไม่ได้พูดอะไรเกินเลยไปจากที่ตัวเองทำได้
  • การทำให้ดู ก็คือโค้ชได้ทำให้เห็นว่า หากทำแบบนี้แล้วจะได้แบบนี้ หากไม่เชื่อ ไปทำแบบอื่นก็จะได้ผลอีกแบบ ขึ้นชื่อว่า โค้ช ได้ชื่อว่า ผู้นำ ได้ชื่อว่า ผู้มีวิสัยทัศน์ หากคนที่ไปสอนเขายอมรับผิดต่อสิ่งที่ตัวเองนำพา คนนั้นจึงควรจะถูกเรียกว่าเป็นครูบาอาจารย์คนได้
  • การสั่งสมเกิดจากการที่เราได้รับการชี้แนะวิชาความรู้บางอย่าง แล้วเราก็นำไปปฏิบัติ หรืออยู่ใกล้ชิดอาจารย์จนได้เรียนรู้ไม่รู้ตัว อาจจะเกิดจากการสังเกตและเลียนแบบในช่วงแรกๆ ต่อมาเมื่อเราปฏิบัติบ่อยๆ เข้า มันก็กลายเป็นความรู้ที่อยู่ในตัวเรา อาจจะเรียกได้ว่า เป็นนิสัย
  • การเรียนรู้แบบปะผุ เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ ผิดตรงไหนก็ไปแก้เอาที่ปลายเหตุ
  • การเรียนรู้แบบขัดเกลา ไม่ใช่จ้องจะปฏิบัติอย่างเดียว แต่ต้องกลับมาสอดส่องดูตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นต้นเหตุของปัญหานั้นก็ได้ ซึ่งยากตรงที่คนเรามักไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดเสียเอง
  • บัณฑิตย่อมฝึกตน นั่นคือหน้าที่ของตนเองที่ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก หรืออาจเรียกได้ว่า วินัยภายใน
  • สำคัญที่สุด ต้องเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้
  • วิริยะคือความเพียรที่จะทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัย จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้สิ่งที่รู้เข้ามาอยู่ในตัว
  • การเรียนรู้ต้องอาศัยการสั่งสม ทุกครั้งที่เราสั่งสม ยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ การเรียนรู้ของเราจะยกระดับขึ้นทีละน้อย ความเข้าใจของเราจะมากขึ้น คล้ายกับการอ่านหนังสือเล่มเดิมที่เมื่อมาอ่านใหม่อีกครั้ง ความเข้าใจของเราจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ก่อนเข้าสู่การฝึกฟัง ต้องเริ่มที่การฝึกความรู้สึกตัว ด้วยการตามสังเกตอาการในร่างกายก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สังเกต ไม่ใช่ คิดพิจารณา อาการในร่างกายที่สามารถรู้สึกได้จริง เช่น ตึง คลาย เย็น อุ่น นุ่ม แข็ง ไม่ใช่อาการในกาย (ความรู้สึก)
  • สัญญาณทางกายที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ต้องใช้ใจไปสัมผัสรับรู้ เพราะถ้าเราวุ่นวายทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา หรือมีเรื่องคิดในหัวไม่หยุด ข้อมูลเหล่านี้ก็จะเลยข้ามหัวเราไป จนไม่มีโอกาสรับรู้ได้เลยว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร
  • การคลี่คลายนั้นเกิดภายในตัวเราเอง เพราะเราเข้าใจเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง เมื่อคลี่คลายแล้วก็หมายถึงว่าเราได้กลับคืนสู่สภาวะปกติ หากยังไม่พบการคลี่คลาย การกระทำของเราจะทำให้เกิดการประทุษร้ายความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น เข้าทำนอง ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง
  • เมื่อใดที่เราเอาใจไปจมกับเรื่องราวของคู่สนทนา นอกจากเราจะช่วยอะไรเขาไม่ได้แล้ว ต่างฝ่ายต่างจมไปในเรื่องราว เหมือนคนกำลังจมน้ำ ที่ดึงอีกคนจมลงไปด้วย
  • เมื่อเราเบื่อหน่ายกับการแสวงหาความเห็นด้วย และการแสวงหาความเห็นใจ เราก็จะเริ่มแสวงหาการเห็นความจริง แต่จะเมื่อใด ไม่มีใครรู้ได้

ขอบคุณพี่หนุ่มประธาน สำหรับการส่งมาให้ยืมอ่านค่ะ

--

--

Parima Spd

I enjoy reading and writing. Continue to learn and try new things to improve. Before you die, explore this world.